006 : ความคิดในอดีตที่เปลี่ยนไป กับ สิ่งที่อยากจะบอกให้คนรุ่นใหม่รับรู้
หลังจากที่เขียนแชร์ประสบการณ์ตัวเองไปแล้วในบล็อกที่แล้ว (005 : ความสำเร็จของชีวิต… ควรเริ่มต้นจากสิ่งที่เราไม่ชอบ) ดังนั้นบล็อกประจำวันนี้ถือโอกาสเขียนต่อเนื่องเพื่อบันทึกประสบการณ์ชีวิตในช่วงเวลาหนึ่งของตัวเองที่มาจาก Status ใน Facebook ส่วนตัวอันนี้ครับ
ช่วง 2-3 วันนี้ มีคนมาปรึกษาเยอะมาก ทั้งลูกศิษย์ และน้องๆที่รู้จักมักคุ้น ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องงานที่ทำ อยากเปลี่ยนงาน เป…
Posted by Thanom Ketem on Saturday, March 19, 2016
หลังจากที่เขียนเสร็จแล้วนั่งภาคภูมิใจกับเสียงตอบรับจากคนไลค์ คนแชร์ คนมาเม้นท์ ทำให้รู้สึกดีใจและมีความสุขฟินเฟอร์ไปสักพัก แต่พอมานั่งอ่านดีๆ แล้ว ผมคิดว่า Status ที่ว่านี้ … มีที่มาจากประสบการณ์ทั้งหมดของผมที่ผ่านมาในช่วงเวลาประมาณ 15 ปีกว่าๆ ทีได้ใช้ชีวิตการทำงานในวัฏจักรของมนุษย์เงินเดือนและฟรีแลนซ์
แรกเริ่มเดิมทีผมเองก็เป็นมนุษย์เงินเดือนทั่วไปนี่แหละครับ ทำงานมั่นคงมีความสุขอยู่ดีๆในสายอาชีพบัญชี สอบบัญชี แต่ชะตาชีวิตก็ดันจับผลัดจับผลูมาเป็นข้าราชการประจำ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของชีวิตฟรีแลนซ์ (Freelance) ที่ว่านี้เพราะเงินเดือนที่มีไม่พอทำมาหารับประทาน (เรียกสั้นๆว่าไม่พอแดรกส์นั่นเอง)
ในช่วงเวลาการทำงานที่ผ่านมา ผมพบความจริงอยู่ข้อหนึ่งว่า “คนเราทุกคนมีการเปลี่ยนแปลง” และสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดของผม คือ “ความคิด” โดยเฉพาะความคิดที่มีต่อเรื่อง 3 เรื่องที่สำคัญมากๆ คือ เรื่องเงิน เรื่องการทำงาน และ เรื่องการใช้ชีวิต
เรื่องแรก คือ เปลี่ยนจากความรู้สึกว่า “เงินไม่สำคัญต่อชีวิต” กลายเป็น “เงินสำคัญมากนะ” เมื่อก่อนผมเองเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นความสำคัญของเงินสักเท่าไร มีเท่าไรก็ใช้หมด จ่ายหมด ไม่เสียดายแถมยังสบายใจอีกต่างหาก แถมยังชอบพูดติดปากอยู่บ่อยๆ ว่า รวยไปก็ไม่มีความสุข ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะภาระทางบ้านที่น้อยกว่าชาวบ้านเขา หนี้ก็ไม่มี แถมพ่อแม่ยังหาเลี้ยงตัวเองได้ (ฐานะดีกว่าลูกอีกต่างหาก – -“ )
แต่พอมาสู่ช่วงที่มีรายได้น้อยลง ไลฟ์สไตล์ที่เคยคิดว่าดี คิดว่าเจ๋ง สุดท้ายก็กลายเป็นว่าไม่มีปัญญาทำได้เหมือนเดิม แถมภาระความกดดันก็มากขึ้น อยากได้เงินมากขึ้น หาอะไรทำมากขึ้น ด้วยศักดิ์ศรีที่เราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นๆ และที่สำคัญที่สุด ที่ทิ่มแทงตัวผมเองอยู่เสมอ คือ เราต้องไม่เป็นภาระของครอบครัว ในเมื่อเขาไม่เป็นภาระกับเรา เราก็ไม่มีสิทธิที่จะสร้างภาระให้กับเขา
เมื่อเข้าตาจน และรู้ว่าเงินมันสำคัญในการใช้ชีวิต เราควรจะยอมรับตัวเองให้ได้สักทีว่าจริงๆแล้ว “เงินสำคัญมาก” แต่ไม่ได้สำคัญที่สุดเท่ากับความสามารถในการหาเงิน
เคยได้ยินคำว่า “มีเงิน XX บาทจะเอาไปทำอะไรดี?” ใช่ไหมฮะ มีคำตอบหนึ่งที่ผมชอบมากๆ นั่นคือคำตอบของน้องมัดบ.ก.คู่ใจ เขาบอกว่า “ต้องถามก่อนว่า มีเงินเท่านี้แล้วอันที่ไม่ใช่เงิน มีอะไรบ้าง ถึงจะบอกได้ว่าทำอะไรดี เหมือนคนที่จะศัลยกรรมอ่ะพี่ ถ้าถามว่าแสนนึงพอไหม คงต้องถามกลับไปว่า แล้วเบ้าหน้าดั้งเดิมของน้องเป็นยังไงล่ะคะลูกก”
นั่นแหละฮะ ถ้ามีความสามารถในการหาเงินเมื่อไร เราจะรู้ว่าเงินไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด และเราจะไม่มาถามคำถามพวกนี้อีกต่อไป และถ้ามีการเก็บเงินสำรอง (เงินฉุกเฉิน) วางแผนการใช้จ่าย บริหารการเงินให้เป็นด้วย รับรองว่าจะช่วยได้มากเลยล่ะครับ
อย่างตัวผมเองนั้น รายได้หลักมาจากการทำงานฟรีแลนซ์ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น ผมคิดว่าเป็น “อาชีพ” ไม่แน่นอน ดังนั้นสิ่งจำเป็นอันดับแรกคือการมีเงินสำรองมากที่จะพอใช้จ่ายสบายๆไปได้สัก 1 ปี หากเราไม่มีรายได้อีกต่อไป
เรื่องที่สอง คือ การทำงาน ผลของทัศนคติเรื่องเงินที่คิดว่ารวยไปก็ไม่มีความสุข ทำให้ผมกลายเป็นพวกสุขนิยมโฟเบีย (คิดเอง) คือ เลือกงานที่ตัวเองทำแล้วสบายใจ สบายกาย (ไม่เกี่ยวกับความฝันหรือแพสชั่นแต่อย่างใด เน้นสบายเข้าว่า)
ดังนั้น ความรู้สึกทุกครั้งที่มักจะได้ยินคนบ่น หรือมีคนมาปรึกษาว่าจะลาออกจากงานเมื่อไร ผมก็จะครอบความคิดของตัวเองลงไปเลยว่า เฮ้ย ถ้ามันมาปรึกษาคนอื่นแสดงว่ามันอยากออกเว้ย ถ้ามึงไม่อยากออกก็คงไม่มาปรึกษากูใช่ป่ะล่ะ (เป็นความคิดที่ไร้สาระชิบหาย คนบางคนมันแค่อาจจะอยากมองหาโอกาส หรือเป็นอารมณ์ชั่ววูบก็ได้ ..)
ยิ่งถ้าได้ยินคำบ่นว่าทำงานหนัก ไม่อยากทำ ผมมักจะแนะนำและบิ้วววให้ลาออกตลอดๆๆๆ ไม่เคยถามถึงภาระ ข้อจำกัด หรือความฝันห่านอะไรในชีวิตใครเลย ซึ่งตอนนั้นผมคิดว่า โห.. กูแม่มอินดี้ นี่มันคำแนะนำที่เจ๋งมากสำหรับคนอย่างเรา (ที่อยู่ในกะลาเง่าๆหนึ่งใบ)
แต่ผมก็มาเริ่มรู้สึกตัว หลังจากที่หลายๆ ครั้ง มีคนมาปรึกษาแล้วตัดสินใจลาออกตามคำแนะนำ แต่ชีวิตแม่มไม่ได้ดีอย่างที่เขาหวังไว้ มีบางคนต้องกลับไปตายรังทำงานที่เก่าเพราะเป็นหนี้บ้าน หนี้รถ บางคนกลายเป็นโรคซึมเศร้า จิตเวช บางคนร้ายกว่านั้นคือออกไปที่ใหม่แล้วเจอกดดันจนสุดท้ายตกงาน ไอ้ตรงนี้มันเลยย้อนกลับมาถามผมว่า สิ่งที่ให้คำปรึกษาคนเหล่านั้นไป คืออะไร? กูมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่เขาจะทำร้ายชีวิตตัวเองหรือเปล่า ประกอบกับการที่ตัวเองไม่มีเงินใช้ ถึงจะมาสำนึกได้ว่า “เฮ้ย จริงๆชีวิตนี้ไม่ได้มีแต่ขาวกับดำนี่หว่า”
ช่วงหลังๆ มานี้ ผมเชื่อเสมอว่างานที่เหมาะและงานที่ดีสำคัญมากกว่างานที่รัก เพราะคำว่า “เหมาะ” มันจะปรับขึ้นตามประสบการณ์ทำงานของเรา และคำว่า “ดี” มันจะทำให้เราอยู่กับมันได้นานกว่างานอื่นๆ
โดยเฉพาะคนที่ทำงานอิสระทั้งหลาย ฟรีแลนซ์ สิ่งที่ต้องเพิ่มเข้าไป คือ การบริหารจัดการเรืองงานอย่างมีระบบ จะช่วยให้เราสามารถทำงานที่เหมาะและดี ได้ดียิ่งๆขึ้นไป และมันทำให้เราเข้าใกล้ความมั่นคงมากขึ้น
เรื่องสุดท้าย คือ เรื่องการใช้ชีวิต เรื่องนี้ผมได้เรียนรู้ผ่านชีวิตของคนหลายๆคนรวมถึงเรียนรู้จากการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของตัวเองหลายๆเรื่องที่เกิดขึ้น ทำให้ผมเปลี่ยนความคิดว่า “ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่เราอยากเป็น” กลายเป็น “ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่เราพอใจในสิ่งที่มันเป็น” ซึ่งเรื่องนี้มันสำคัญมากๆนะครับในการอยู่และเรียนรู้โลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วดังเช่นในทุกวันนี้
คำว่า “ชีวิตที่เราอยากเป็น” แปลว่า เรายังเป็นไม่ได้ แต่เรามีความคาดหวังไว้ว่าอยากจะเป็น ซึ่งสิ่งที่ต้องระวังคือ ความอยากที่ว่านั้นมันมาจาก “เรา” หรือ มันมาจาก “คนรอบข้าง” เพราะการที่เราอยากมี-อยากเป็น-อย่างเช่นคนรอบข้างนั้น มันจะทำให้เรามีความสุขจริงๆหรือ ?
ส่วนคำว่า “ชีวิตที่เราพอใจในสิ่งที่มันเป็น” ผมหมายถึงในสิ่งที่เราอยู่และเรียนรู้ที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายถึงความพอเพียง หรือให้ลดความอยากลงไป แต่มันคือการเรียนรู้จะที่อยู่กับความฝันและความผิดหวังไปพร้อมๆกัน
มีหลายครั้งเลยที่ผมอยากจะได้งานเยอะๆ คนรู้จักมากๆ มี Connection มากมายเพื่อค้นฟ้าคว้าดาวหาโอกาสรอบตัว (อย่างที่บอกว่าชีวิตฟรีแลนซ์นั้นมันไม่แน่นอน) ดังนั้นจึงพยายามทำงานทุกอย่างเท่าที่ทำได้ พยายามขยายความสามารถให้กว้างไกลเพื่อที่หวังว่าจะให้คนยอมรับมากขึ้น เพราะผมเชื่อว่าการที่มีสิ่งเหล่านี้มากขึ้นนั้น ย่อมสร้างรายได้ที่มากขึ้น และปลายทางของความสำเร็จคือชีวิตผมจะต้องดีขึ้นมากๆ
ผมทำงาน ทำงาน ทำงาน ทำงาน และทำงานอย่างหนัก จนวันหนึ่งที่ผมป่วยหนักจากผลของความพยายามที่ว่านี้ ระหว่างที่ผมนอนนิ่งๆ มองดูเพดานบ้าน ผมเกิดถามกับตัวเองว่า สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญจริงๆ คืออะไร ? และคำตอบที่ได้ คือ การทำงานที่มีคุณภาพจากสิ่งที่เรามีความรู้จริงๆ เพื่อให้มันสร้างโอกาสกลับมาให้กับตัวเอง ไม่ใช่การพยายามสร้างโอกาสในการทำงานเดิมๆ ให้กว้างขวาง เพราะสุดท้ายเราจะขาดสิ่งที่เรียกว่าคุณภาพจากปริมาณงานที่ถาโถมเข้ามา และพบว่าตัวเรานั้นไม่ได้มีคุณค่าอะไรเช่นเดียวกับเครื่องจักรหนึ่งชิ้นในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพียงแค่นั้น
ต้องบอกว่า.. มันไม่ใช่เรื่องที่ผิดนะครับ ที่ใครจะคิดแบบไหน ผมย้ำเสมอว่า ผมไม่มีสิทธิตัดสินชีวิตใคร แต่อย่างน้อยคุณนี่แหละจะตอบตัวเองด้วยความรู้สึกที่มี ถ้าหากชีวิตเราไม่ได้ต้องการแบบนั้นจริงๆ
เพราะชีวิตที่ดี ไม่ใช่ชีวิตที่เหมือนใคร
แต่มันคือชีวิตที่เราพอใจในสิ่งที่มันเกิดขึ้น
จริงๆแล้ว ผมตั้งใจจะเขียนแชร์ประสบการณ์เรื่องนี้ในหนังสือเล่มล่าสุดที่มีชื่อว่า ฟรีแลนซ์101 ซึ่งเป็นหนังสือการเงิน+การวางแผนภาษี และแชร์ประสบการณ์ในการบริหารจัดการเงินของตัวเองด้วยภาษาที่กวนตีนและกันเองแบบสุดๆ แต่เมื่อได้เขียน Status ต้นทาง จึงทำให้มีโอกาสใช้เวลาในการกลั่นกรองสิ่งที่ตัวเองเคยคิดไว้ ออกมาไว้ในบล็อกวันนี้ครับ
(อุดหนุนหนังสือได้นะ ไม่ต้องเกรงใจ : http://goo.gl/fYglBV)
สุดท้ายผมหวังว่าสิ่งที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี้ จะมีประโยชน์กับคนทุกคนที่กำลังเลือกงาน สับสน เปลี่ยนงาน หรือคิดจะออกจากงาน รวมถึงใครที่กำลังมีปัญหาชีวิตอยู่ไม่มากก็น้อยนะครับ ขอบคุณที่ตั้งใจอ่านมาจนจบถึงบรรทัดนี้
… และหวังว่าคงติดตามกันต่อในบล็อกต่อจากนี้นะครับ :)