011 : อย่าลืมสร้าง “คุณค่า” ก่อนทำให้มันมี “มูลค่า”
ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้สองถึงสามครั้ง… แต่วันนี้มีอะไรบางอย่างดลใจให้ผมต้องกลับมาคิดถึงมันอีกครั้งหนึ่ง อาจจะเพราะความรู้สึกที่มีขึ้นในใจตอนที่ตัวเองเผลอเรอไปให้ความสำคัญของคำว่า “มูลค่า” มากกว่า “คุณค่า”
มูลค่า
[มูนละ- มูน-] น. ค่าของสิ่งของ ราคาของสิ่งของ
คำว่า “มูลค่า” หากแปลตามพจนานุกรมแล้ว หมายถึง “ค่าของสิ่งของ หรือ ราคาของสิ่งของ” เหมือนที่เราเดินไปในตลาดแล้วเห็นว่ามีป้ายแปะอยู่ เมื่อดูเราจะพิจารณาถึง “ราคา” เทียบกับ “มูลค่า” ที่ได้รับ เมื่อสองอย่างมันมาประจวบเหมาะกันมันจะสรุปด้วยคำว่า “น่าซื้อ” และส่งผลถึงการตัดสินใจในการ “จ่าย”
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (8 เมษายน 2559) ผมได้มีโอกาสเสวนาในงานสัปดาห์หนังสือ ซึ่งมันก็คืออีเว้นท์ในการโปรโมทหนังสือเล่มหนึ่งของตัวเองนั่นแหละครับ ก่อนที่งานเสวนาจะจบลง ผมเผลอพูดประโยคหนึ่งออกไปแบบไม่ได้ตั้งใจ
“ไม่มีหนังสือเล่มไหนเปลี่ยนชีวิตเราได้ ถ้าอ่านแล้วไม่ลงมือทำ”
หลายๆครั้งที่เราหยิบเงินเพี่อ “จับจ่ายใช้สอย” เพื่อแลกกับการที่ได้ “บางอย่าง” กลับมา ผมเชื่อว่าในวันที่เราจ่ายเงินออกไปนั้น เราย่อมแอบคาดหวังกับ “มูลค่า” ที่ได้รับกลับมาว่ามันควรจะมากกว่า “เงินที่จ่ายไป”
สมมุติว่าเราจ่ายเงินซื้อหนังสือในราคา 200 บาท แปลว่าสิ่งที่เราได้จากหนังสือนั้นมันควรจะมากกว่า 200 บาท หรืออย่างน้อยก็ควรจะเทียบเท่าเงิน 200 บาท ใช่ไหมครับ? ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นการพิจารณาถึง “คุณค่า” ที่เราได้รับ
คุณค่า
[คุนค่า คุนนะค่า] น. สิ่งที่มีประโยชน์หรือมีมูลค่าสูง
แต่คำว่า “คุณค่า” หากแปลตามพจนานุกรมแล้ว กลับหมายถึง “สิ่งที่มีประโยชน์หรือมีมูลค่าสูง” นั่นแปลว่าเราอาจจะพออนุมานคาดเดาไปเองได้ว่า “สิ่งที่มีมูลค่าสูง” น่าจะเป็น “ของตี” ที่มีทั้ง “คุณค่า” และ “ประโยชน์” ให้กับชีวิตเรา
ในทางกลับกันเรามักจะได้ยินคำว่า “แค่รวยอย่างเดียวไม่พอ ต้องโง่ด้วย” ซึ่งเป็นคำประชดประชัดแดกดันกลายๆว่า คนบางคนจ่าย “มูลค่าสูง” ไปเพื่อให้ได้ “คุณค่าต่ำ” และก็ฟังกันขำขันไปตามประสา
ฟังดูแล้วมันก็น่าสงสัยเหมือนกันว่า สรุปแล้วเราใช้อะไรวัด “คุณค่า” ก่อนที่จะตั้ง “มูลค่า” ให้กับมัน ความรู้สึกของเราที่มีต่อสิ่งนั้นๆ อารมณ์ของคนรอบข้างที่มีต่อผลปลุกเร้าถึงความคุ้มค่า ไปจนถึงความโลภที่เข้ามาหายใจรดต้นคอรอวันปลดปล่อยเงินในกระเป๋าเราออกไป
ในฐานะของผู้ซื้อ เราคงต้องเปรียบเทียบให้ดีถึง “มูลค่า” ที่เราจ่ายไปเพื่อให้ได้อะไรกลับมาอย่างมี “คุณค่า” แต่ในฐานะของผู้ขายนั้นการที่มี “มูลค่า” มากเท่าไร นั่นแปลว่า “กำไร” ในกระเป๋าย่อมมากขึ้นตามไปด้วย
และบางคนเลือกที่จะสร้างให้ “ผู้ซื้อ” รู้สึกถึง “คุณค่า”
… ทั้งๆที่สิ่งที่เขาขายนั้นไม่ได้มี “มูลค่า” สักนิดเดียว