-162 : เพราะ “ลิขสิทธิ์” เป็นได้แค่ “สิทธิ์ของผู้แพ้”

 

ลิขสิทธิ์ คือ

สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของผลงาน

 

แต่ทุกที่ที่มีลิขสิทธิ์

มักตามมาด้วยการละเมิดสิทธิ์

 

—-

 

ผมเคยมีคำพูดหล่อๆบอกตัวเองว่า

คุณสามารถก๊อปปี้งานผมไปได้

แต่คุณก๊อปปี้ความคิดผมไม่ได้หรอก

 

เป็นคำพูดที่ฟังดูดีมีชาติตระกูล

ดังราชนิกูลที่ไม่อยากเกลือกกลั้วกับปฏิกูล :)

 

(1)

แต่ลองคิดกลับกัน

ถ้าเราถูกก๊อปปี้แล้วนำไปพัฒนาต่อ

ด้วยภาษาเริดหรูที่เรียกว่า C&D

หรือ Copy And Development

 

อารมณ์ดั่งราชนิกูลเมื่อกี้

คงจะต้องร้องในใจว่าชิบหายแล้วครับพี่

… เป็นแน่แท้

 

(2)

และ…

ถ้าหากสถานะของ ผู้ก๊อปปี้ สูงกว่า ผู้ถูกก๊อปปี้

มันจะเป็นอย่างไรต่อไปนะ?

 

อาจารย์ที่ได้แรงบันดาลใจ

จากผลงานของศิษย์เอก

 

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ที่ได้สูตรลับจากร้านคุณป้าในตลาดสด

 

Copy And Development

เลยต้องแหลกกระเด็นด้วยคำว่า

“จรรยาบรรณ”

 

(3)

ปัญหา คือ เราจะแยกยังไง

ว่าอันไหน คือ “จรรยาบรรณ”

และอันไหน คือ “ของฝากนักก็อป”

 

—–

 

มันน่าตลกตรงที่

เรากำหนดศัพท์มากมายมานิยาม

เรามีกฏหมายเยอะแยะมาป้องกันการละเมิด

 

แต่สุดท้ายนั้น

เรากลับตัดสินด้วย “ความรู้สึก” ในใจ

 

หรือ.. บางทีแล้ว “ลิขสิทธิ์”

อาจจะเหลือคุณค่าแค่เพียงการอ้างสิทธิ

… ของผู้แพ้ตัวจริง