011 : อย่าลืมสร้าง “คุณค่า” ก่อนทำให้มันมี “มูลค่า”

ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้สองถึงสามครั้ง… แต่วันนี้มีอะไรบางอย่างดลใจให้ผมต้องกลับมาคิดถึงมันอีกครั้งหนึ่ง อาจจะเพราะความรู้สึกที่มีขึ้นในใจตอนที่ตัวเองเผลอเรอไปให้ความสำคัญของคำว่า “มูลค่า” มากกว่า “คุณค่า”

มูลค่า
[มูนละ- มูน-] น. ค่าของสิ่งของ ราคาของสิ่งของ

คำว่า “มูลค่า” หากแปลตามพจนานุกรมแล้ว หมายถึง “ค่าของสิ่งของ หรือ ราคาของสิ่งของ” เหมือนที่เราเดินไปในตลาดแล้วเห็นว่ามีป้ายแปะอยู่ เมื่อดูเราจะพิจารณาถึง “ราคา” เทียบกับ “มูลค่า” ที่ได้รับ เมื่อสองอย่างมันมาประจวบเหมาะกันมันจะสรุปด้วยคำว่า “น่าซื้อ” และส่งผลถึงการตัดสินใจในการ “จ่าย”

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (8 เมษายน 2559) ผมได้มีโอกาสเสวนาในงานสัปดาห์หนังสือ ซึ่งมันก็คืออีเว้นท์ในการโปรโมทหนังสือเล่มหนึ่งของตัวเองนั่นแหละครับ ก่อนที่งานเสวนาจะจบลง ผมเผลอพูดประโยคหนึ่งออกไปแบบไม่ได้ตั้งใจ

“ไม่มีหนังสือเล่มไหนเปลี่ยนชีวิตเราได้ ถ้าอ่านแล้วไม่ลงมือทำ”

หลายๆครั้งที่เราหยิบเงินเพี่อ “จับจ่ายใช้สอย” เพื่อแลกกับการที่ได้ “บางอย่าง” กลับมา ผมเชื่อว่าในวันที่เราจ่ายเงินออกไปนั้น เราย่อมแอบคาดหวังกับ “มูลค่า” ที่ได้รับกลับมาว่ามันควรจะมากกว่า “เงินที่จ่ายไป”

สมมุติว่าเราจ่ายเงินซื้อหนังสือในราคา 200 บาท แปลว่าสิ่งที่เราได้จากหนังสือนั้นมันควรจะมากกว่า 200 บาท หรืออย่างน้อยก็ควรจะเทียบเท่าเงิน 200 บาท ใช่ไหมครับ? ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นการพิจารณาถึง “คุณค่า” ที่เราได้รับ

คุณค่า
[คุนค่า คุนนะค่า] น. สิ่งที่มีประโยชน์หรือมีมูลค่าสูง

แต่คำว่า “คุณค่า” หากแปลตามพจนานุกรมแล้ว กลับหมายถึง “สิ่งที่มีประโยชน์หรือมีมูลค่าสูง” นั่นแปลว่าเราอาจจะพออนุมานคาดเดาไปเองได้ว่า “สิ่งที่มีมูลค่าสูง” น่าจะเป็น “ของตี” ที่มีทั้ง “คุณค่า” และ “ประโยชน์” ให้กับชีวิตเรา

ในทางกลับกันเรามักจะได้ยินคำว่า “แค่รวยอย่างเดียวไม่พอ ต้องโง่ด้วย” ซึ่งเป็นคำประชดประชัดแดกดันกลายๆว่า คนบางคนจ่าย “มูลค่าสูง” ไปเพื่อให้ได้ “คุณค่าต่ำ” และก็ฟังกันขำขันไปตามประสา

maw

ฟังดูแล้วมันก็น่าสงสัยเหมือนกันว่า สรุปแล้วเราใช้อะไรวัด “คุณค่า” ก่อนที่จะตั้ง “มูลค่า” ให้กับมัน ความรู้สึกของเราที่มีต่อสิ่งนั้นๆ อารมณ์ของคนรอบข้างที่มีต่อผลปลุกเร้าถึงความคุ้มค่า ไปจนถึงความโลภที่เข้ามาหายใจรดต้นคอรอวันปลดปล่อยเงินในกระเป๋าเราออกไป

ในฐานะของผู้ซื้อ เราคงต้องเปรียบเทียบให้ดีถึง “มูลค่า” ที่เราจ่ายไปเพื่อให้ได้อะไรกลับมาอย่างมี “คุณค่า” แต่ในฐานะของผู้ขายนั้นการที่มี “มูลค่า” มากเท่าไร นั่นแปลว่า “กำไร” ในกระเป๋าย่อมมากขึ้นตามไปด้วย

และบางคนเลือกที่จะสร้างให้ “ผู้ซื้อ” รู้สึกถึง “คุณค่า”
… ทั้งๆที่สิ่งที่เขาขายนั้นไม่ได้มี “มูลค่า” สักนิดเดียว

-002 : 10 บันทึกสั้นๆ ในวันที่ไม่ได้สำคัญอะไร

 

1.

“วันเกิดยังทำงานอีกหรอคะ?”

น้องโปรดิวเซอร์รายการทีวีเอ่ยถามผม

 

นั่นสินะ…

ผมลืมวันเกิดตัวเองไปตั้งแต่เมื่อไรกัน

 

หรือว่าจริงๆแล้ว

เราให้ความสำคัญเรื่องอื่นมากกว่าตัวเอง

 

2.

“เราว่าปีนี้มันเป็นปีที่หนักสำหรับเรานะ”

ผมเอ่ยปากพูดกับคนรู้ใจ เธอพยักหน้าหงึกหงัก

 

เป็นอีกปีหนึ่งที่ต้องผ่านมันไปด้วยงานที่มากมาย ยังไม่วายตามมาด้วยการเปลี่ยนทั้งวิถีชีวิตและภาระ

 

เวลาเดี่ยวนี้มันผ่านไปไว อยากทำอะไรต้องรีบทำ ผมบอกกับเธอแบบนั้น ทั้งๆที่ไม่มั่นใจเลยว่า เวลาของผมยังเหลืออยู่อีกเท่าไร

 

3.

สุขสันต์วันเกิดนะ ขอให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่คิดนะลูก ให้สุขกายสบายใจ โชคดีในสิ่งที่คิด สมหวังในสิ่งที่ทำ

 

ข้อความทาง Line ที่แม่ส่งมา…

เป็นสิ่งตอกย้ำว่าเทคโนโลยีทำให้ทุกคนมีระยะห่างที่ลดลง

 

4.

ไม่มีข้อคิดอะไรฝากนะครับ

ชีวิตตัวเองยังเอาไม่รอดเลยอ่ะคนับ

 

ผมทิ้งท้ายข้อความนี้ไว้ใน Status

เพื่อขอบคุณคนที่อวยพรวันเกิดใน Facebook

 

นึกสงสัยตัวเองอยู่เหมือนกันว่า นิสัยที่ชอบแนะนำ สั่งสอนใคร มันหายไปไหนหมด

 

ถ้าไม่เกิดจากอายุที่มากขึ้น คงเกิดจากความรู้สึกบางอย่างที่ลดน้อยลง

 

5.

“หนูว่าพี่ชอบเสือกอ่ะ พี่ถามเค้าก่อนมั้ยว่าอยากให้ช่วยหรือเปล่า”

 

Feedback ที่ตรงและแรงนั้นมีคุณค่า

ถ้าหากคุณมองเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในนั้น

ผมยิ้มให้หน้าจอเมื่อเห็นข้อความนี้ เพราะอย่างน้อยความดีของเราก็มีคุณค่ากับบางคน

 

6.

งานหนัก ความตั้งใจ เป็น 2 คำที่มาคู่กัน แต่เป็นนามธรรมที่ไม่มีตัววัดผล

 

เราทำงานหนัก?

แต่สิ่งที่คนต้องการคือ “ผลงาน”

 

เราตั้งใจทำงาน?

แต่สิ่งที่คนต้องการคือ “ผลงาน”

 

1 ปีที่ผ่านมาคุณมีผลงานอะไรบ้างล่ะ

คำถามที่ตบหน้าเบาๆให้รู้สึกถึงคุณค่าของเวลาและเหมือนกระแทกด้วยหมัดเข้าที่เบ้าตา ให้รู้สึกถึงความไม่มีคุณค่าของตัวตน

 

7.

การบิดเบือนความทรงจำ

คือ สิ่งที่เราควรยอมรับว่ามันเกิดขึ้นจริง

 

เพราะสิ่งที่เราเชื่อนั้น มันถูกบิดเบือนมาเรียบร้อยแล้ว ด้วยเวลา ความรู้สึก อารมณ์ และการตัดสิน

 

คนสุดท้ายสิ่งที่เราอยากให้คนอื่นได้ยิน

มันจะหลงเหลือเพียงแค่เศษเสี้ยวของความจริง

 

8.

ถ้าอยากดูสันดานคนชัดๆ ให้ดูสิ่งที่เขาปฎิบัติกับคนที่ไม่มีประโยชน์กับเขา

 

เพราะมันวัดอะไรบางอย่างได้เสมอ จากความเผลอเรอที่เขาลืมนึกถึงมันไป

 

9.

“ทุกอย่างมันเป็นเหมือนที่พี่พูดไว้เลย”

คำกล่าวถึงอดีต พูดกับผมในปัจจุบัน

 

แต่มันไม่ได้ทำให้ผมเชื่อเลยว่า

อนาคตข้างหน้ามันจะเป็นแบบนั้นจริงๆ

 

10.

ความพ่ายแพ้ทำให้เราเข้มแข็ง แต่บางครั้งมันก็ทำให้เราจมอยู่กับมันซ้ำๆ เพราะหวังว่าสักวันเราจะชนะมันได้เอง

ชัยชนะทำให้เราอ่อนแอ โดยเฉพาะในวันที่มันเปลี่ยนเป็นความพ่ายแพ้ ความรู้สึกแย่เพียงครั้งเดียวจะทลายทุกอย่างลง

 

 

-004 : เมื่อเราเติบโตขึ้น เรากลับพบว่าชีวิตมันไม่ได้ “อร่อย” เหมือนเคย

 

เมื่อเราเติบโตขึ้น

เรื่องที่รับรู้มันไม่ได้มีแต่อร่อยเหมือนเคย

ทำให้รู้สึกว่าแต่ก่อนเรานี่เป็นอีป้าโลกสวยในกะลาจริงๆ

แต่ก่อนเชื่อว่าชีวิตแม่มคอนโทรลได้สิ คนที่ยังคอนโทรลไม่ได้

 

อาจเป็นเพราะยังไม่เข้าใจตัวเอง ยังไม่เข้าถึงอะไรแบบนี้

ผมนั่งอ่าน Status ที่ว่านี้ในเพจๆหนึ่ง แล้วย้อนนึกถึงตัวเองในวันเก่าๆ กับประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตถึงระดับที่เรียกได้ว่าเข้าสู่วัยกลางคน สังเกตได้จากเส้นผมดำที่ลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ จนทำให้เราต้องคอยปกปิดความขาวด้วยสารเคมีที่ผ่านการคัดสรรว่ามาจากธรรมชาติ

 

ก่อนที่จะกลายเป็นโฆษณายาย้อมผมไปมากกว่านี้ คำถามที่มีอยู่ในใจก็เริ่มปรากฎชัดเจนขึ้นว่า ยิ่งเราเติบโตขึ้น สิ่งที่เราคิดนั้นควรเปลี่ยนแปลงไป หรือ ยังยึดมั่นอยู่กับมันเหมือนอย่างเดิม ถ้าให้ตอบแบบสวยงามตามเนื้อผ้าก็ควรจะมีทั้งสองอย่าง คือ สิ่งที่ดีควรจะยึดถือไว้ และ สิ่งที่ไม่ดีก็ควรจะเปลี่ยนแปลงไป

 

แต่หากตอบโดยมองโลกจากมุมมองของตัวผมเอง ผมเชื่อว่าทุกสิ่งที่เราคิดนั้นต้องเปลี่ยนแปลงไปเสมอ แต่เหตุผลที่บางความคิดยังไม่ถูกเปลี่ยนไปนั้น มันคงเป็นเพราะยังไม่มีสถานการณ์มากระทบให้เราต้อง “เปลี่ยน” มากกว่า

 

ลองจินตนาการเล่นๆขึ้นมาว่า ถ้าหากคุณเป็นคนที่ยึดมั่นในความดี แต่ถูกรังแกด้วยความชั่วช้าที่ถาโถมเข้ามาเรื่อยๆในชีวิต วันหนึ่งคุณอาจจะเป็นคนที่เปลี่ยนแปลงกลายเป็นคนที่ไม่ศรัทธาความดีอีกต่อไป หรือต่อให้คุณกล้าบอกว่า คุณยังศรัทธาความดีอยู่ก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วสายตาที่คุณมองโลกนั้นก็จะไม่เหมือนเดิมอยู่นั่นแหละ นี่คือเหตุผลที่ผมให้คำตอบกับตัวเองว่า ทุกความคิดนั้นมีสิทธิ์เปลี่ยน

 

คำถามต่อมาหลังจากคำตอบว่า “ทุกคนทุกสิ่งล้วนต้องเปลี่ยนแปลง” คือ การเปลี่ยนแปลงที่ว่าอยู่ในระดับไหน ระหว่าง “ปัจจัยภายนอกที่มาตกกระทบให้ภายในเปลี่ยน” หรือ “ปัจจัยภายในเปลี่ยนเพราะอยากจะเปลี่ยนให้สิ่งที่อยู่ข้างในนั้นดีขึ้นกว่าเดิม” กันแน่

 

และต่อให้ “ประสบการณ์เปลี่ยนเราแค่ไหน แต่สุดท้ายเราต้องเปลี่ยนตัวเอง” คำพูดคมๆคุ้นๆ ที่เคยบอกผมว่า ถึงแม้สภาพแวดล้อมหรือประสบการณ์ที่ว่านั้น มันคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตัวเราจากภายนอกและมันอยู่ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะสภาวการณ์ต่างๆล้วนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ตะกอนความคิดจากภายในที่ถูกสร้างขึ้นมาจากตัวเราเองนี่แหละ จะทำให้เราเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

 

ลองจินตนาการต่อไปว่า ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่เจอคนโกงมาเยอะมากๆ มันย่อมไม่แปลกที่คุณจะไม่ไว้ใจใคร (จากประสบการณ์) แต่ไม่ได้แปลว่าคุณต้องไม่ศรัทธาในความดี หรือยึดถือว่าสายตาที่คุณมองโลกนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง (จากสิ่งที่อยู่ภายใน) และในขณะเดียวกัน ถ้าคุณเจอแต่คนดีมาโดยตลอด ก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะสามารถไว้ใจใครได้ 100% จากโลกที่เราเจอ

 

“อย่าคิดว่าชีวิตมันจะนิ่ง ถ้าอายุมึงยังไม่ถึง 40”

 

คำพูดสั้นๆที่ผมจำขึ้นใจจากปากของพี่ที่เคารพ อาจเป็นหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านในช่วงวัยกลางคนกลับกลายเป็นการพยายามทำความเข้าใจโลก มากกว่าความพยายามที่จะสร้างโลกที่เราเข้าใจเหมือนอย่างในวัยก่อนหน้านี้

 

ในวันที่เราอายุ 20-30 โลกที่เราแบกไว้ดูเหมือนยิ่งใหญ่ เราเห็นใครหลายคนที่ประสบความสำเร็จจาก “ต้นทุน” ที่มีมาไม่เท่ากัน และ “ความสามารถ” ที่แตกต่างสร้างสรรค์จากธรรมชาติกอปรกับความพยายามที่จะสร้างมันขึ้นมาด้วยไฟของหนุ่มสาว

 

แต่เมื่อเวลาผ่านไป หากมีโอกาสได้ย้อนมองดูตัวเองในสิ่งที่ผ่านมา และมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงที่หนักหนาในวัยที่เกินกว่า 30 ปี การเสื่อมถอยของคนรุ่นก่อน ภาระความรับผิดชอบที่อาจจะไม่ใช่ขึ้นอยู่กับเราเพียงคนเดียว ผูกพันลดเลี้ยวไปจนถึงความคงที่บางอย่างที่ “นิ่ง” จนอาจกลายเป็นหลุมพรางในการใช้ชีวิต ทำให้เริ่มรู้สึกสัมผัสถึงความซับซ้อนของการเป็นมนุษย์ และมันก็ทำให้สะทกสะท้อนใจไม่ใช่น้อยว่า

 

ไอ้ชีวิตที่เราคิดว่าเราเข้าใจนั้น…

จริงๆเราไม่ได้เข้าใจมัน .. แม้แต่นิดเดียว :)

 

 

-006 : “อัตตาและคุณค่า” ในคืนที่ผมถามตัวเองว่าเจอรักแท้แล้วหรือยัง ?

 

มันเป็นตอนเย็นหลังเลิกงานที่ฝนตกหนักกว่าที่เคย วันอังคารแบบนี้.. ฝนตก – รถติด – ชีวิตลำบาก และก่อให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิดแกมรำคาญเมื่อได้ยินเสียงหยดน้ำที่ร่วงลงมาจากฟ้าอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุดหย่อน

 

ผมยืนนิ่งๆ อยู่หน้าร้านตัดผมชายชื่อดังย่านสยาม พร้อมด้วยผมบนหัวที่ถูกเซตมาอย่างเรียบร้อย ถ้าใครบ่นว่าล้างรถแล้วฝนตก ความทุกข์ของผมคงมากกว่าพวกเขาตรงที่หัวของเราไม่มีรับประกันเซตใหม่ภายใน 24 ชั่วโมง

 

เสียงฝนตกหนักยามเลิกงาน เปรียบเหมือนสัญญาณที่ตอกย้ำความผิดพลาดในชีวิตของผมย้ำๆซ้ำๆ หลังจากที่ในวันนี้ต้องพบกับความผิดพลาดไปหลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่ความตั้งใจแรกเริ่มว่าจะไปถ่ายรูปให้ – ครูเปิ้ล Mind Director – เพื่อนรักที่กำกับละครเวที “Love Game the Musical” ตอนทุ่มกว่าๆ โดยที่ทึกทักเอาเองว่า ทีมงานจะซ้อมกันที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ (ชั้น7 สยามสแควร์วัน) เหมือนกับวันแสดง แต่ความเป็นจริงคือซ้อมกันที่สตูดิโอย่านทองหล่อจ้า #เราคิดว่าควายน่ะควายแล้วแต่เราควายกว่า

 

เมื่อเข้าใจผิดไปตั้งแต่แรก แพลนที่วางไว้เพราะความคิดที่ว่า ไม่อยากเสียเวลาไปฟรีๆ ด้วยความที่ชีวิตในกรุงเทพเหมือนกับการแข่งขัน ทำอะไรต้องทำให้คุ้มตลอดเวลา และทุกๆวินาที ผมเลยตัดสินใจแวะมาตัดผมก่อน กะว่าเรียบร้อยก็จะไปโรงละครต่อแบบชิวๆ สรุปคือต้องเปลี่ยนแผนเป็นเดินตัวปลิวขึ้นรถไฟฟ้าไปทองหล่อซะงั้น ( – -“) และทั้งหมดนั้นคือสาเหตุที่ผมยังคงหงุดหงิดตัวเองอยู่เหมือนกับฝนที่ไม่หยุดตก

วันนี้ผมเห็นบทความเรื่อง “จุดอิ่มตัวของ Content Marketing บน Facebook” ถูกแชร์กันกระหน่ำมากมายวัวตายควายล้ม และมันคือบทความที่สะท้อนเรื่องจริงในยุคที่เรามีข้อมูลให้เสพจนล้นสมอง (Information Overload) แต่ยังคงมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่าเดิม เราจึงไม่สามารถยัดทุกอย่างเข้าไปในนั้นได้ทั้งหมด ถึงแม้หัวใจของเราจะต้องการแค่ไหน

บทเรียนของเรื่องนี้แปลว่าสิ่งที่เราต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่สำหรับคนที่ใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องมือ คงไม่ใช่การสร้าง “ปริมาณ” หรือจำนวนผลงานออกมาให้มากขึ้น แต่คงต้องเป็นเรื่องของการ “คัดกรอง” และ “คัดสรร” เรื่องที่เราต้องการจะบอกให้โลกนี้รับรู้อย่างมี “คุณภาพ” มากขึ้นทดแทน และการแย่งชิงครั้ง “พื้นที่” ย่อมเกิดขึ้นวนเวียนไปไม่รู้จบ

 

สุดท้าย “คุณค่า” ก็ชนะเลิศครับ

พี่ที่ผมเคารพท่านหนึ่งพูดไว้แบบนั้น

 

ระหว่างที่กำลังใจลอยคิดเรื่องนี้อยู่ รู้สึกตัวขึ้นมาอีกที ผมกำลังเดินทางอยู่ในตู้โดยสารของรถไฟฟ้าที่ออกจากสถานีสยามไปทองหล่อ ด้วยสภาพที่เบียดแน่นยิ่งกว่าปลากระป๋อง ผสมผสานกับกลิ่นฝน กลิ่นเหงื่อ และความเหนื่อยหน่ายของคนหลายคนในรถไฟฟ้า ทำให้รู้สึกราวกับว่าบรรยากาศช่างชวนให้อึดอัดยิ่งกว่าเดิมเสียอีก

 

ในเมืองใหญ่แห่งนี้.. เราแข่งขันในทุกๆเรื่องจนเคยชิน ตั้งแต่แย่งกันกิน แย่งกันใช้ ร้านอาหาร ถนน ระบบขนส่งสาธารณะ พื้นที่ส่วนตัวต่างๆ ถูกบีบให้เล็กลงด้วยผลของการแย่งชิง ทุกวินาทีดูเหมือนจะมีค่า เพราะถ้าหากไม่ชนะขึ้นมาก็ดูเหมือนมันจะไร้ความหมาย แต่คิดอีกที เราจะเอาชนะคะคานกันไปทำไมในการใช้ชีวิตขนาดนั้น เพราะเราก็รู้กันดีว่ายิ่งรีบเร่งแค่ไหน บางครั้งก็ไม่ได้ช่วยทำให้อะไรเร็วขึ้นกว่าเก่า

“สถานีทองหล่อ” เสียงสัญญานอัตโนมัติจากรถไฟฟ้าดังขึ้นบอกว่าผมไปถึงเป้าหมาย ลงจากสถานีไม่ทันไร น้องฝ้ายมายก็อดเนตไอดอลเจ้าของเพจเบียร์จ๋าฉันมาแล้วจ๊ะ ก็พูดแซวขำๆขึ้นมาว่า “โหยยพี่ .. แค่มาถึงก็เหนื่อยแล้วว่ะ กลับเลยดีกว่าไหม”

 

สายฝนที่สถานีทองหล่อไม่แตกต่างกับสถานีสยาม จนทำให้คำว่า “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” กลายเป็นคำกล่าวอ้างที่เกินจริง เราสองคนตัดสินใจหาอะไรกินกันที่ปากซอย ก่อนที่จะเดินเข้าซอยไปที่สตูดิโอด้วยระยะทางประมาณ 500 เมตร

 

“พี่เอาถุงไหม” เนตไอดอลเจ้าเก่าเจ้าเดิม เพิ่มเติมคือยื่นถุงพลาสติกมาให้ ถ้าใครผ่านมาในช่วงนั้น คงได้เห็นบรรยากาศฝนพรำๆยามค่ำคืน ที่มีเด็กผู้หญิงหนึ่งคนถือร่มสีสดใส กับผู้ชายอีกหนึ่งคนที่มีถุงพลาสติกสีขาวคลุมหัว เดินเข้าไปยังสตูดิโอ พร้อมกับเสียงบ่นพึมพำไปตลอดทาง

 

ในแต่ละวัน เราตื่นแต่เช้าออกไปทำงาน พักเที่ยง ทำงานต่อ เลิกงาน กลับบ้าน วนเวียนหมุนเวียนไปปีแล้วปีเล่า เราทำงานได้มากขึ้น มีประสบการณ์และความรู้หลากหลายมากขึ้น รู้ในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องรู้เพิ่มขึ้น และลืมเรื่องบางเรื่องที่ควรรู้ไปโดยไม่รู้ตัว

 

เราบอกตัวเองว่าต้องรู้เพียงเพราะเราสนใจว่าเราอยากรู้หรือเปล่า เรื่องชาวบ้าน ข่าวสาร อาชญากรรม การเมือง เรื่องดารา หลอกลวง โป้ปดมดเท็จ เทคนิคการทำตัวให้อินเทรนด์เพื่อที่เราจะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโดยที่เราก็ตอบไม่ได้ว่าทำไมต้องเป็นเช่นนั้น

 

เราสร้าง “ความมีตัวตน” และค้นพบว่ามันคือ “อัตตา” ในการมีชีวิต ศักดิ์ศรี ความเคารพนับถือ ความเชื่อ ศรัทธา ตรรกะ หลอมรวมจนยึดติดว่ามันเป็นของเรา แต่เอาเข้าจริงเราต่างก็รู้อยู่แก่ใจว่า ไม่ว่าเราจะพยายามมีตัวตนแบบไหน แต่สิ่งที่ใช้ตัดสินตัวตนเรากลับเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้อย่างสายตาคนอื่น

 

น้องฝ้ายนำทางมาจนถึงสตูดิโอในเวลาประมาณ 2 ทุ่มนิดๆ เลทกว่าเวลาที่นัดไปประมาณ 1 ชั่วโมงกว่าๆ พร้อมด้วยเสียงบ่นของผมที่บอกว่า “น่าจะขับรถมา” กระปอดกระแปด

 

นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้เข้ามาดูการซ้อม “ละครเวที” แบบสดๆ เพราะโดยปกติแล้วในสายงานที่ทำอยู่คงไม่มีโอกาสแบบนี้ ถ้าไม่มีเพื่อนเป็นผู้กำกับละครเวทีอย่างที่เป็นอยู่ (อิอิ)

 

ถ้าจำไม่ผิด ผมได้มีโอกาสดูละครเวทีครั้งแรกประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว น่าจะเป็นเรื่อง บางกอก 2485 เดอะมิวสิคัล ที่ หอประชุมใหญ่, ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (ตอนนั้นยังไม่มีเมืองไทยรัชดาลัย) และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีโอกาสได้ไปละครเวทีที่เป็น Musical บ่อยๆ จนมาช่วงหลังๆ 5 ปีที่ผ่านมานี้ ไม่มีเวลาไปดูเพราะเวลางานและข้อจำกัดชีวิตที่ขีดให้ตัวเอง บีบให้ต้องบริหารสมดุลของเวลาให้ดี

 

เมื่อก่อน ผมเคยสงสัยว่า “ทำไมบัตรละครเวทีมันแพงจังวะ” แต่เมื่อได้สัมผัสกับบรรยากาศของละครเวที ผมก็รู้ดีว่าต้นทุนของมันนั้นไม่ใช่น้อยเลย ทั้งนักแสดงทุกคนที่ต้องเป๊ะ (พลาดไม่ได้เพราะเล่นสด) เพลงประกอบ ฉาก คนทำงานเบื้องหลังและการเตรียมงานของมันก็ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ซึ่งถ้าลองหักลบคิดคำนวณออกมาแล้ว มันก็คุ้มราคาในระดับหนึ่ง ยิ่งถ้าหากคุณเป็นคนชอบงานประเภทนี้และสามารถจ่ายไปได้โดยที่ไม่มีปัญหา ผมก็แนะนำตรงๆว่ามันก็ไม่เสียหายอะไร (เพราะบางครั้งเราก็จ่ายเรื่องอื่นๆไปในราคาที่แพงกว่าเหมือนกันแหละ)

ผลงานละครเวทีหนึ่งเรื่อง กว่าจะมีภาพของความสำเร็จหน้าฉากออกมาได้งดงามขนาดนี้ หลายคนคงสงสัยว่าหลังฉากที่มีมันต้องวุ่นวายและเหนื่อยยากขนาดไหน นึกแล้วก็เหมือนกับเรื่องของความสำเร็จในชีวิตมนุษย์คนนึงที่มีแสงไฟสาดส่องให้คนมองเห็น แต่ก่อนที่ไฟจะฉายขึ้นมานั้น เราก็ไม่รู้หรอกว่าเขาผ่านอะไรมาบ้างขนาดไหน และสุดท้ายเมื่อไฟที่ฉายส่องนั้นดับลง เราจะยังคงจดจำเขาไว้ในลักษณะไหน

 

ในยุคที่เต็มไปด้วยความรีบเร่ง รวดเร็ว หลอมรวมกับความสำเร็จแบบว่องไว เราเห็นหลายคนเร่งส่องแสงไฟจนหลอดขาดแล้วระเบิดใส่หน้าแหกกันไปตามๆกัน เราเห็นไฟระยิบระยับแสบตากับความไม่พร้อมก่อนที่จะออกมายังหน้าเวที และเราเห็นสีหน้าแห่งความอับอายก่อนที่ไฟที่ฉายจะดับวูบลง

 

บางทีผมก็นึกสงสัยขึ้นมาว่า

ในชีวิตของคนเราทุกคนนั้น …

เราจำเป็นต้องรีบเร่งกันถึงขนาดนั้นเลยหรือ

ผมยืนกดชัดเตอร์อยู่มุมขวาของห้องแบบเก้ๆกังๆ แบบไม่รู้จะไปทางไหนดี มือขวาถือกล้องที่หยิบยืมมาทำให้ปรับตั้งค่าไม่ได้อย่างที่ใจคิดสักเท่าไร ทำให้ต้องหันหน้าไปถามฝ้ายมายก็อดเป็นระยะๆ

 

ระหว่างที่หันมองซ้ายขวาหามุมถ่ายภาพไปเรื่อยๆ ความรู้สึกที่มองในฐานะคนนอกที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงาน มองเห็นความวุ่นวายของการยกฉาก ยกไฟ มองเห็นส่งอุปกรณ์ประกอบฉากไปๆมาๆ แน่ละ เพราะว่ามันคือการซ้อมตามปกติ ผมจึงไม่มีโอกาสเห็นแสงไฟสาดส่องไปที่นักแสดงแต่ละคู่แต่ละคน ตอนแรกก็ปะติดปะต่อเรื่องราวไม่ค่อยได้ด้วยการที่มาสาย แต่ก็ใช้ความสามารถส่วนตัวพยายามที่จะปนตัวเองเข้าไปดูเนื้อเรื่องให้เข้าใจในที่สุด (นี่คงเป็นความสามารถพิเศษที่เราชอบยุ่งเรื่องชาวบ้านแน่ๆ)

 

Love Game The Musical เป็นละครเพลงแนวใหม่ในสไตล์โมเดิร์น เรื่องราวของหนุ่มสาวสามคู่ที่เกิดจากการความต้องการแข่งขันด้านความรัก เพื่อให้ได้รับชัยชนะทางความรู้สึกในสังคม จนเกิดเรื่องสนุกสนานและวุ่นวายตามมา ถ้าใครสนใจเรื่องราวต่อจากนี้ ลองอ่านรายละเอียดได้ที่นี่ครับ ก๊วนคานทอง Love Game The Musical

 

เรื่องราวในละครเวทีเรื่องนี้สะท้อนถึงความรัก ในแง่มุมของความพยายามที่จะมี “รัก” เพื่อให้เกิด “ชัยชนะ” ในเกมส์ๆ หนึ่ง แต่ดูละคร (เวที) แล้ว เราลองย้อนมาดูชีวิตจริงของตัวเองว่า “ความรักของเรากำลังทำให้เกิดทุกข์อยู่หรือเปล่า” ผมนึกถึงเรื่องของความสำเร็จในชีวิตคู่ที่ทุกคนต้องมีตามครรลองขึ้นมา เรียกได้ว่า ตาม Step ที่เราชอบสงสัยเรื่องของชาวบ้าน เอ๊ะ คู่นี้.. จีบกันหรือเปล่า เป็นแฟนกันหรือยัง แต่งงานเมื่อไร ทำไมยังไม่มีลูก คำถามคลาสสิกที่วนเวียนซ้ำๆ ราวกับว่ามันเป็นสิ่งที่ควรทำเหมือนกับการแปรงฟันวันละ 2 ครั้งหลังอาหาร

 

แต่คำถามจริงๆ คือ ความรักของเรามันควรเป็นแบบนั้นหรือ ? ความรักไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจเหมือนฝนในหน้าแล้ง หรือควรเป็นเหมือนแดดอ่อนๆฉายมา ยามที่ฝนหนักๆได้ผ่านพ้นไป

 

ความรักที่ดี

ควรทำให้หัวใจของเรารู้สึกถึงคุณค่าของการมีชีวิต

มากกว่าการถูกลิขิตว่า

ต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ตามที่ “สังคม” ต้องการ

 

ตัวตน อัตตา ที่มันมากเกินความจำเป็น (แน่ละส่วนนึงสังคมเข็นและผลักไสให้เราเป็นแบบนั้น) และอีกส่วนนึงมันคงมาจากความต้องการที่จะทำให้คนที่เรารักเป็นไปอย่างที่ตั้งใจ ทำไมเธอไม่เหมือนคนอื่น ทำไมชีวิตเราไม่ชื่นมื่นกับความผาสุกเหมือนที่ควรจะเป็นตามที่เห็นในสังคม

 

เรากำลังติดบ่วงอยู่กับ “ความพยายาม” ทำทุกอย่างให้ดีแบบสุดๆทาง จนลืมไปว่า ชีวิตคนเรานั้นไม่สามารถควบคุมอะไรได้ตามใจ ขนาดนั้นหรอก ผมเชื่อว่าคนที่มีความสุขในชีวิตนั้น เขามองเห็นสิ่งที่ควรทำ และ สิ่งที่ต้องทำ ของตัวเอง ได้อย่างชัดเจน มากกว่าการวนเวียนหมุนเวียนกับความพยายามเหล่านั้นปีแล้วปีเล่า จนสรุปสุดท้ายแล้วเราอาจจะลืมถามตัวเองไปว่า ที่มีความสุขอยู่ทุกวันนี้ มันคือความสุขจริงๆ หรือมันเป็นความรู้สึกที่ต้องมีความสุข

กล้องทำหน้าที่ของมันต่อไป ส่วนผมก็ทำหน้าที่กดรัวๆ ไม่ให้เสียดายเวลาที่มาทำหน้าที่ ผมมองเห็นนักแสดงหลักซ้อมกันอย่างขะมักเขม้น สลับกับภาพของนักแสดงประกอบ ผู้กำกับ คนควบคุมการแสดง และเสียงเพลงประกอบ หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไป

 

พวกเขาเหล่านี้มีเป้าหมายเดียวกันคือการตั้งใจทำงานในช่วงระยะเวลาหนึ่งร่วมกันให้ดีที่สุด ผมสัมผัสได้ถึงพลังแบบนั้นจากการนั่งมองอย่างไร้ตัวตน สลับกับการหมุนวนเดินไปกดชัดเตอร์ที่อีกมุมหนึ่งของห้อง หลังจากองก์แรกของการซ้อมได้จบลง

 

ระหว่างการซักซ้อม ผมมองเห็น พวกเขาเล่นละครเวที ราวกับมีเพียงแต่พวกเขา ทั้งๆที่รอบๆนั้นเต็มไปด้วยผู้คนเดินไปเดินมา การผลัดเปลี่ยนฉาก เสียงหัวเราะ การตัดเข้าเพลง ฯลฯ หรือแม้แต่เสียงชัตเตอร์ของผมบางครั้งที่ดังขึ้นมาท่ามกลางความเงียบ ก็ไม่ได้ทำให้สมาธิหลุดแต่อย่างใด

 

….หรือนี่คือโอกาส

ที่สอนให้ผมเข้าใจในเรื่องการ Focus ในสิ่งที่เราทำแบบจริงจัง

“กลับยัง รถไฟฟ้าจะหมดแล้ว”

“แต่อีกเดี๋ยวก็ได้มั้ง ใกล้จะจบแล้ว”

ห้าทุ่มเศษๆ ผมเหลือบดูข้อความจาก Facebook Messenger สลับกับฉากสุดท้ายของละครเวทีที่เต็มไปด้วยความสุข ภาพของงานแต่งงานที่พวกเขาร้องเล่นเต้นกันอย่างสนุกสนาน สลับกับเสียงหัวเราะที่ทำให้รู้สึกตรงกันข้ามกับความสดใสในช่วงเวลาที่กำลังจะเดินเข้าสู่วันใหม่อีกไม่นาน

 

ละครจบแล้ว ผมรีบเดินออกมา พร้อมกับน้องฝ้ายคนเดิม เพิ่มเติมคือรถไฟฟ้าใกล้หมด ส่วนการซ้อมนั้นยังดำเนินต่อไปในช่วงสุดท้าย นักแสดงและทีมงานยังคงต้องประชุมกันต่อไปเพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น

 

แน่ล่ะว่าการซ้อมวันนี้ยังไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขา แต่ผมเชื่อว่ามีใครหลายคนกำลังเฝ้าคอยดูสิ่งที่ดีที่สุดในวันแสดงจริงอีกครั้งหนึ่ง

ระหว่างยืนคอยรถไฟฟ้ารอบสุดท้ายเพื่อนั่งกลับจากทองหล่อไปสยาม ผมถามตัวเองสั้นๆหลังจากการซ้อมละครเวทีเรื่องนี้จบลงว่า ตกลงแล้ว “รักแท้มีจริงไหม ?”

 

เมื่อพูดถึงคำว่า “ความรัก” เราทุกคนล้วนรู้สึกกับคำๆนี้ต่างกัน บางคนอาจจะรู้สึกสวยงามมันเหมือนอยู่ในความฝัน บางคนอาจจะรู้สึกว่าเหมือนกับมันไม่เคยเกิดขึ้น บางคนรู้สึกทุกข์ สุข และเหนื่อยเพราะความรัก แต่เชื่อเถอะว่า เราทุกคนล้วนต้องการความรัก อาจจะเพราะเราใช้ความรู้สึกของหัวใจมากกว่าสมองกับสิ่งนี้มาตั้งนานแล้ว

 

สุดท้ายแล้วผมได้คำตอบให้ตัวเองว่า ความรักมันคงไม่ได้เกิดมาเพื่อให้เราตั้งคำถาม แต่มันเป็นคำตอบที่สอนให้เราเรียนรู้และอยู่กับมันเพื่อใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆบนโลกนี้

“สถานีสยาม” ฝ้ายมายก็อดโบกมืออำลาก่อนจะเปลี่ยนเส้นทางไปยังสายสีลม ส่วนผมก็เดินเงียบๆผ่านความมืดในสยามแสควร์เพื่อไปยังที่จอดรถตรงตึกด้านหลังเพื่อขับรถกลับบ้านให้ได้นอนในวันที่ยาวนานแบบนี้เสียที

 

ระหว่างที่เดินไปที่รถ ผมหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูข้อความใน Facebook เช็ค Notification ที่เข้ามา สอดส่องเรื่องชาวบ้านอีกเล็กน้อย ก่อนจะปิดหน้าจอในโลกออนไลน์ลงไป และกดโทรศัพท์หาใครคนหนึ่งในเวลาเที่ยงคืนกว่าๆ

 

สำหรับคนปกติ เวลานี้คงไม่เหมาะที่จะคุยโทรศัพท์สักเท่าไร

และผมมั่นใจว่าใครคนหนึ่งกำลังรอโทรศัพท์สายนี้ของผมอยู่

… ด้วยความรู้สึกเล็กๆที่เรียกว่า “ความรัก” …

 

 

-007 : ประสบการณ์ในเดือนที่แย่ที่สุดของชีวิต

 

สิ่งหนึ่งที่ตั้งใจไว้.. หลังจากทำบล็อก “พรี่หนอม” ขึ้นมาใหม่แทน “บล็อกควายๆของนายหนอม” คือ การเริ่มต้นเขียนเนื้อหาใหม่ในมุมมองที่เปลี่ยนไปตามวัยที่มากขึ้น (แก่) และวางแผนกับตัวเองเอาไว้คร่าวๆว่าจะเขียนบล็อกให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งเรื่อง ซึ่งก็เป็นไปตามแผนแต่โดยดีหากนับจากเดือนมีนาคม 2559 เป็นต้นมา และก็หักเหมาจนล้มไม่เป็นท่าในเดือนมิถุนายน 2559

 

โดยปกติแล้ว ผมมีงานที่ต้องเขียนในแต่ละเดือนประมาณ 15-20 เรื่อง ตั้งแต่งานเขียนลงบล็อก บทความ หรือนิตยสารต่างๆ (มีทั้งเขียนฟรีและได้เงินค่าเขียนเล็กๆน้อยๆ) แต่ไม่รวมงานเขียน Advertorial และงาน Ghost Writer อื่นๆที่รับจ้างตามความต้องการของตลาดในขณะนั้น

 

นอกจากงานเขียนแล้ว ผมก็เริ่มที่จะเพิ่มเติมคลิปวีดีโอลงยูทูปอาทิตย์ละ 1-2 เรื่อง และถ้าหากที่ต้องเขียนลงพรี่หนอมด้วยก็คงจะได้ประมาณ 30 เรื่องต่อเดือนพอดี คิดเป็นเฉลี่ยวันละเรื่อง (ไม่รวมงานเขียนหนังสือ และทำความพร่ำเพร้อลง Facebook ส่วนตัว) และเนื่องจากงานเขียนนี้ถือเป็นรายได้เพียงส่วนหนึ่งจากงานที่ผมทำ มันย่อมแปลว่าผมต้องพยายามบริหารจัดการเวลาในการเขียนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด นั่นก็คือ เขียนให้เร็วขึ้น และ เขียนให้ดีขึ้น (แต่คิดว่าสิ่งที่เคี่ยวกรำให้งานเสร็จจริงๆนั้น คงเป็นพลังของเดตไลน์ที่ควบกระชั้นเข้ามากกว่า)

 

ในเดือนมิถุนายน 2559 มีเหตุการณ์หลายๆอย่างเกิดขึ้นในแบบที่ไม่คาดคิด ไปจนถึงสิ่งที่วางแผนไว้หลายๆอย่างผิดพลาด ทำให้ผมเกิดอาการติดสตั้นท์ขึ้นมาจนต้องทิ้งงานหลายๆอย่างไป และหนึ่งในนั้นคืองานเขียนบล็อกเรื่องราวส่วนตัวลงที่แห่งนี้ แบบชนิดที่เรียกได้ว่าไม่มีอารมณ์เขียนไปดื้อๆ (ขอโทษสำหรับใครหลายคนที่ถามถึงนะครับ.. แต่เอาจริงๆก็มีอยู่ 2-3 คนแค่นั้นเอง TwT)

 

วันนี้ได้ฤกษ์เขียนออกมาเสียที และสิ่งที่ผมอยากเขียนในวันนี้ มันคงเป็นแค่การบันทึกไดอารี่ของความรู้สึกในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อาจจะไม่ใช่แนวความคิด ปรัชญา บทความเสียดสีจิกกัดสังคม เหมือนที่เขียนตามปกติ แต่ผมถือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ผมได้เรียนรู้และเข้าใจชีวิตมากยิ่งขึ้น และถ้าหากใครสักคนที่ได้เข้ามาอ่านมันเห็นว่ามีประโยชน์ ผมคงรู้สึกยินดีมากๆ ที่ประสบการณ์ชีวิตผมนั้นกลายเป็นกระจกสะท้อนอะไรบางอย่างให้กับใครคนนั้น (ที่หลงเข้ามา – -“)

 

เอาล่ะ.. ถึงเวลาเลิกเขียนอะไรหล่อๆ พร่ำเพร้อพรรณาแล้วล่ะฮะ มาลองดูละกันว่าในเดือนที่ผ่านมาผมมีชีวิตอยู่ด้วยความรู้สึกแบบไหนบ้าง

 

งานหนักกลายเป็นการบำบัดความรู้สึก

 

เรามักจะได้ยินกันคำกล่าวว่า “งานหนักไม่เคยฆ่าคน” ถึงแม้ว่าผมจะไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้สักเท่าไร แต่ในช่วงที่ผ่านมาสิ่งที่เพิ่มขึ้นจากคำว่า “งานหนัก” นั้น ทำให้ผมรู้สึกว่ามันเป็นการบำบัดความเครียดได้เป็นอย่างดี เพราะมันทำให้เราต้องจดจ้องอยู่กับสิ่งอยู่ตรงหน้า มากกว่าปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านไปกับความเครียดที่เกิดขึ้นมา แน่ล่ะว่ามันไม่ได้ทำให้เราลืมสิ่งที่เกิดขึ้น แต่มันก็ยังดีกว่าการนั่งฟูมฟาย ระบาย หรือออกไปทำร้ายตัวเองให้แย่ลง ดังนั้นถ้าหากคุณมีปัญหาชีวิต ลองเลือกใช้งานหนักๆ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจสักช่วงหนึ่งก็ไม่เลวเหมือนกันครับ

 

ปัญหาเรื่องเงิน มันเกิดจากคน

ถ้าผมจำไม่ผิดคำพูดนี้น่าจะมาจากโค้ชหนุ่ม (Money Coach) ซึ่งเมื่อผมได้พบกับปัญหาเรื่องเงินที่เกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวกลับยิ่งตอกย้ำให้ผมรู้สึกเลยว่า “มันเป็นความจริง” เพราะไม่ว่าจะมีเงินมากมายเท่าไร ไม่ว่าจะพยายามใช้เงินแก้ปัญหาแค่ไหน แต่สุดท้ายเราปฎิเสธไม่ได้หรอกว่า ปัญหาล้วนมาจากคน มากกว่า “เงิน”

 

ปัญหาที่ว่า คือ การใช้จ่ายของคนใกล้ตัวแบบไม่คิดหน้าคิดหลังในบางเรื่อง ซึ่งทำให้ผมรู้สึก “เสียดาย” แต่สิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ คือ “ความรู้สึก” ที่เสียไป และ “การกระทำ” ที่ไม่คาดคิดมากกว่า

 

เราปฎิเสธไม่ได้หรอกว่า ในโลกปัจจุบันนี้ เงินเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ วิธีการที่เราปฎิบัติต่อเงินในทุกๆวัน ที่ทำให้เราต้องหันมาตั้งคำถามว่า การหาเงิน การใช้จ่ายเงินของเรา มันกำลังทำร้ายคนรอบตัวเราอยู่หรือเปล่า?

 

เราด่าทอ “คนที่แตกต่างจากเรา”

เพียงเพราะเขาอาจจะเป็นคนที่เราเกลียด

 

ขอยอมรับตรงๆว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยจะชอบ “กูรู” ที่จัดงานสัมมนาแบบหลอกลวงสักเท่าไร โดยเฉพาะเรื่องของความสำเร็จแบบฉับไว ร่ำรวยทันใจ เพราะผมไม่ค่อยเชื่อในการทำอะไรแบบ “สั้นๆง่ายๆ” เพื่อให้ประสบความสำเร็จ “เร็วๆ” อย่างที่ต้องการ แต่ในอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่ผมเตือนตัวเองในฐานะ “คนทำงาน” คือ วันหนึ่งเราอาจจะกลายเป็นอย่างเขาโดยที่เราไม่รู้ตัวก็ได้ เพราะไม่ว่าเขาจะขายความสำเร็จในรูปแบบไหนก็ตาม หรือเราจะก่นด่าเขารุนแรงแค่ไหน หากโชคดี เราก็ทำได้แค่เตือนสติใครสักคนที่อ่านเจอ แต่ถ้าหากโชคร้าย เราก็กลายเป็นคนสร้างศัตรูไปง่ายๆซะงั้น และถ้าวันนึงเราพลาดพลั้งเผลอไปทำบ้าง เราจะกล่าวอ้างกับตัวเองอย่างไร #เปิดการ์ดโลกสวย

 

ในช่วงนึงของชีวิตที่ผ่านมา ผมมักจะเขียนบทความประชดประชันแดกดันลงในเฟสบุ๊กส่วนตัวบ้าง หรือหลุดพูดจาไปบ้าง ซึ่งที่พูดมาก็ไม่ได้ต้องการจะขอโทษอะไรหรอกครับ เพราะทุกวันนี้ผมก็ยังรู้สึกแบบนั้นอยู่เหมือนเดิมแหละ (อ้าว)

 

แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในตอนนี้ มันคือทัศนคติในการทำงานของตัวเอง ยิ่งเราด่าเขา เรายิ่งต้องชัดเจนในการทำงาน ซึ่งผมก็พยายามเลือกทางที่จะ “หากิน” กับคนที่มีเงินจ่าย มากกว่าการ “หากิน” กับความฝันที่มีราคาของคน โดยส่วนตัวแล้วผมค่อนข้างพอใจในการเขียนบทความ Advertorial ที่มีคนจ่ายเป็นแบรนด์ต่างๆ และการเป็นวิทยากรรับงานบรรยายมากกว่าจัดสัมมนาเอง ซึ่งทางที่ผมเลือกเดินแบบนี้บางครั้งมันก็เหนื่อย แต่ผมคิดว่าชีวิตเฉื่อยๆของผมคงไม่ได้ต้องรีบร้อนอะไรมากนัก

 

สิ่งที่น่าตลกในยุคที่กูรูกำลังเบ่งบานแบบนี้ ผมมองเห็นการเปลี่ยนผ่านจากคนที่เคยด่าผม กลายเป็นคนที่ด่าสิ่งที่ผมเคยด่า และมันก็ตลกตรงที่ว่าสุดท้ายแล้วเราก็ด่ากันไปกันมาอย่างสนุกปาก เพื่อความสะใจ แต่ไม่ได้เปลี่ยนให้อะไรมันดีขึ้นมา

 

หลังๆ ผมพยายามหยุดด่าคนที่ผมไม่ชอบในสิ่งที่เขาทำ (แน่ละ ยังคงมีด่าบ่นและกวนตีนอยู่บ้าง ตามประสาสันดานที่เลิกไม่ได้) แต่สิ่งที่ผมทำได้คือ แบ่งเวลามาทำผลงานที่เป็นทางเลือกให้กับพวกเขา เพื่อที่อย่างน้อยจะมีคนเห็นสิ่งที่เราให้โดยที่ไม่ต้องจ่ายด้วยมูลค่าหรือราคาที่แพง

 

ยิ่งเราโตขึ้น ปัญหาของเรายิ่งใหญ่ขึ้น

 

บททดสอบของชีวิตคนนั้น เริ่มตั้งแต่เป็นเด็ก เราทุกคนคงเจอปัญหาตั้งแต่ไม่สามารถใส่ถุงเท้าเองได้ ไปจนถึงกลายเป็นคนที่เธอทิ้ง และสุดท้ายสิ่งเหล่านั้นมันจะบอกว่า “มึงยังต้องเจออะไรอีกมากมาย”

 

ชีวิตบางคนดูคล้ายกับละคร ในขณะที่บางคนดูคล้ายว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง แต่นั่นแหละ ยิ่งเราเติบโตมากขึ้นเท่าไร ปัญหาในชีวิตมันก็จะมากและหนักขึ้นเท่านั้น สิ่งที่เราทำได้มีอยู่ 3 อย่าง คือสู้กับมัน ยอมรับมัน และปล่อยมันไป

 

ผมเชื่อว่า สิ่งที่ตามมาหลังจากเกิดปัญหา คือ หัวใจที่แข็งแกร่ง และประสบการณ์ที่แข็งขัน ที่จะช่วยให้เราฟันฝ่าชีวิตที่หนักขึ้นมาได้อีกเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงวันสุดท้ายของชีวิต

 

ความเข้มแข็งของคนเราแตกต่างกัน

 

ต่อจากเรื่องของปัญหาที่ใหญ่ขึ้น … หลายครั้งหลายคราวที่ได้ยินคำบ่นที่สรุปใจความได้ว่า “ปัญหาของเราหนักกว่าคนอื่น” ผ่านทางคำพูด การกระทำ ข้อความ บทสนทนา ซึ่งมันก็เป็นความจริงที่ว่า “มนุษย์เราสนใจเรื่องของตัวเองมากกว่าคนอื่น” (แน่ละ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นแบบนั้น)

 

ผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนอยู่กันและเรียนรู้ด้วยการแลกเปลี่ยน “ความรู้สึก” แก่กันและกัน ซึ่งมันแปลว่า สิ่งที่เราทำให้ใครคนหนึ่งที่เขามีปัญหาได้ คือ “รับฟัง” และ “เสนอแนะ” แต่ผู้ที่มีปัญหาคงต้องเลือกที่จะ “ฟัง” และ “ยอมรับ” ในสิ่งที่แตกต่างกับความคาดหวังของตัวเองด้วย

 

เมื่อเรามีปัญหา หลายครั้งเราคิดว่าคนที่เราให้ความสำคัญจะต้องมาช่วยแก้ไข แต่เอาแค่เข้าใจทฤษฏีที่ว่า “มนุษย์เราสนใจเรื่องของตัวเองมากกว่าคนอื่น” ก็คงเป็นสิ่งที่อยู่ในการพิจารณาลำดับแรกๆ ที่ต้องคิดอยู่ดีว่า “เราต้องแก้ปัญหาชีวิตเราด้วยตัวเอง”

 

เช่นเดียวกันกับผู้ที่หลุดพ้นปัญหานั้น มักจะมองเสมอว่า “ชีวิตกูยังหนักกว่ามึงเลย มึงจะอะไรนักหนากับเรื่องที่เกิดขึ้น” ในแง่มุมหนึ่งมันก็คงถูกต้อง แต่ “ความเข้มแข็งของมนุษย์” ที่แตกต่างกันนี่แหละ ทำให้มนุษย์แต่ละคนแบกรับมันไว้ได้ไม่เหมือนกัน และเราไม่มีสิทธิตีโพยตีพายบ่นออกมาหรอกว่า “ปัญหาของฉันนั้นหนักที่สุด” เพราะมันจะยิ่งตอกย้ำคำว่า “มนุษย์นั้นสนใจแต่เรื่องของตัวเอง” และมันน่าตลกตรงที่ว่ายิ่งเราคิดถึงปัญหาของเรามากแค่ไหน คนจะยิ่งไม่สนใจเรามากขึ้นเท่านั้น อาจจะเพราะเขาคิดว่า “แล้วมึงรู้ได้ไงล่ะว่าปัญหากูไม่หนัก?” กับ “กูก็เจอปัญหาไม่ต่างจากมึงหรอก แต่กูแค่ไม่แสดงออกเท่านั้น”

 

ถ้าหากวันนี้ชีวิตของเรามีปัญหา สิ่งที่เราควรทำ คือ แก้ไขด้วยตัวเองก่อน-อย่าคาดหวังให้ใครมาช่วย-อย่าเปรียบเทียบปัญหาของตัวเองกับคนอื่น และสุดท้ายคือ ปล่อยให้เวลามันจัดการปัญหาไปด้วยการทำใจยอมรับมะน

 

แต่ถ้าหากไม่ไหว ลองหาใครสักคนที่พอจะ “ฟัง” สิ่งที่เราอยาก “พูด” แล้วระบายมันออกมา โดยไม่ต้องแนะนำทางแก้ไขใดๆ แค่นั้นก็อาจจะพอแล้วที่ทำให้เรากลับมามีสติอีกครั้งหนึ่ง

 

กำลังใจเล็กๆน้อย คือ พลังที่ยิ่งใหญ่

 

โดยส่วนตัวผมไม่ใช่คนที่คิดบวกสักเท่าไร และก็ไม่ได้มองโลกตามความเป็นจริงเสียด้วย แต่ในช่วงที่แย่ที่สุดของชีวิต เราทุกคนล้วนต้องการกำลังใจเล็กๆน้อยๆที่ส่งผลให้เรามีชีวิตอยู่ต่อไปได้ การตบบ่าให้กำลังใจเบาๆ แล้วกระซิบบอกว่า “สู้ๆ” ทั้งที่รู้ว่าช่วยอะไรไม่ได้ มันอาจจะเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ใครหลายคนอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกหลายวัน

 

ในช่วงที่เกิดปัญหาหนัก ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนโชคดีที่สามารถเอาเรื่องเหล่านี้มาปลอบประโลมจิตใจได้ในระดับหนึ่ง ขอให้พื้นที่ตรงนี้ขอบคุณหลายๆคนที่ส่งต่อสิ่งเหล่านั้นมาให้ในวันที่แย่ๆของชีวิต (ทั้งที่พวกเขารู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม) ตั้งแต่คำขอบคุณเล็กๆน้อยๆไปจนถึงคำปรึกษาราคาแพง ขอบคุณจริงๆครับ

 

การจากลาเป็นธรรมดาของมนุษย์

 

เกิดขึ้น – ตั้งอยู่ – ดับไป การจากลาเป็นธรรมดาของชีวิต ช่วงนี้เป็นอีกช่วงหนึ่งที่เพื่อนๆพี่ๆที่ทำงานได้เดินทางก้าวหน้าตามชีวิตและอาชีพ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี และแอบเศร้ากับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเหมือนเช่นเคย

 

ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นช่วงเดียวกันที่ใครบางคนเลือกที่จะทิ้งมิตรภาพดีๆ ที่มีกับผมไปเช่นเดียวกัน ซึ่งผมก็ทำได้แค่ “ยิ้มรับ” และหวังว่าเวลาคงจะช่วยเยียวยาทุกอย่างให้ชีวิตของเขาดีขึ้น

 

สุดท้ายแล้วสิ่งที่ผมเขียนขึ้นมานี้ มันก็เป็นเหมือนกับประสบการณ์ที่ผ่านมา ความเศร้า ความเหนื่อย ความท้อแท้ และความพยายามที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนนี้ เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์หนักหนาที่ผมไม่เคยเจอมาตลอดทั้งชีวิต และวันนี้ผมบันทึกไว้เพื่อบอกกับตัวเองว่า

 

เรากำลังเดินทางไปสู่ปัญหา

ปัญหาที่มีความหนักหนาขึ้น

ปัญหาที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

ปัญหาที่ทำให้ขีวิตยากขึ้น

 

แต่เชื่อเถอะว่า

เราจะผ่านมันไปได้อีกครั้ง

เหมือนกับที่มันเกิดขึ้นในวันนี้ :)

 

 

-011 : ความสำเร็จของชีวิต.. ควรเริ่มต้นจากสิ่งที่เราไม่ชอบ

 

โดยปกติแล้วผมเองเป็นคนที่ไม่ค่อยใช้ “แรงบันดาลใจ” ในการขับเคลื่อนชีวิตสักเท่าไร อาจจะเพราะนิสัยดั้งเดิมที่เป็นคนที่ค่อนข้างจะแอนตี้กับแนวคิด “บวกๆ” ในระดับหนึ่ง (บางครั้งอาจถึงขั้นเกินงามจนอาจเกิดอันตรายต่อชีวิต) แต่ด้วยหน้าที่การงานที่ทำก็มักจะได้รับคำถามเรื่องการค้นหาตัวเองเป็นระยะๆ หรือได้ไปแชร์ประสบการณ์อะไรต่างๆให้กับคนรุ่นหลังฟังอยู่เสมอ (สั้นๆ แปลว่าผมเริ่มแก่นั่นเอง – -“)

 

อย่างล่าสุดเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปเป็น Guest Speaker ให้กับโรงเรียนสอนการแสดงชื่อดังแห่งหนึ่งย่านอารีย์ (Ideo Performing Arts School ของครูเปิ้ล Mind Director) ในหัวข้อเรื่อง Personal Branding และได้พูดถึงประเด็นเรื่องการ “ค้นหาตัวเอง” ที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์และไม่อยากให้มันจบลงแค่เพียงในคอร์สนี้ ผมเลยตั้งใจบันทึกเป็นข้อเขียนเล็กๆไว้เผื่อว่าใครหลงเข้ามาอ่าน :)

 

สำหรับผมแล้ว การค้นหาตัวเองไม่ได้เริ่มต้นจากสิ่งที่เราชอบ หรือแม้แต่การทำตามความฝัน มองหาไอดอล ฯลฯ แต่ผมเชี่อว่าเราควรเริ่มต้นจากการหา “สิ่งที่เราไม่ชอบ” และเลิกทำมันไปทันทีเพื่อประหยัดเวลาชีวิต เพราะเราไม่มีทางรู้หรอกว่าเราชอบอะไร “จริงๆ” จนกว่าเราจะได้ลงมือทำและใช้เวลาเรียนรู้อยู่กับมันนานเพียงพอ

 

การใช้เวลาลงมือทำอะไรสักอย่างที่นานพอ เราจะรู้ว่า เรารู้สึกไม่ชอบอะไร เรารู้สึกเฉยๆกับอะไร ไปจนถึงเราชอบอะไร หรืออย่างน้อยต่อให้เราไม่รู้จริงๆหรอกว่าเราชอบอะไรก็ตาม แต่เราจะรู้แน่ๆว่า

 

“เราทำอะไรได้ดี ในระยะเวลาที่จำกัด

และได้รับผลตอบแทนที่เราพอใจ”

 

ผมขอเรียกมันรวมว่า “ประสบการณ์” เพราะประสบการณ์ที่ดี จะทำให้เราตัดสิ่งที่เราไม่ชอบออกได้ง่ายขึ้น และการเรียนรู้จากประสบการณ์นั่นแหละจะทำให้เรามีสัญชาติญานในการเลือกสิ่งที่ไม่น่าจะชอบได้ดีขึ้น เพราะจุดบอดของวิธีการนี้คือ คนทุกคนมีเวลาเรียนรู้จำกัด และถ้าหากใครที่ไม่ได้ค้นหาตัวเองตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาวก็คงจะลำบากมากๆที่จะต้องลงมือทำทุกอย่างเพื่อค้นหาในช่วงเวลาที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่มีภาระในทุกๆวันนี้ ดังนั้น ประสบการณ์คือส่วนที่เข้ามาเติมเต็มชีวิตเราให้ “ตัดสินใจ” ง่ายขึ้น

 

หลังจากนั้นประสบการณ์ที่ดีและมากเพียงพอในระดับหนึ่ง จะค่อยๆดึงดูดหาโอกาสเข้ามาให้กับเราผ่านทางช่องทางใดช่องทางหนึ่งเองโดยที่เราไม่รู้ตัว แต่ที่น่าตลกร้ายก็คือ โอกาสมักจะมาตอนที่ไม่พร้อม นั่นคือ ไม่พร้อมลงมือทำเนื่องจากไม่มีเวลา กับ ไม่พร้อมเพราะคิดว่ายังไม่ถึงเวลาของเรา

 

โดยปกติแล้ววิธีการจัดการกับ “โอกาส” ที่เข้ามานั้น มักจะอยู่นอกเหนือจากประสบการณ์ของเรา แต่สิ่งที่เราทำได้แน่ๆ คือการตัดสินใจที่จะเปิดรับทุกๆ “โอกาส” ที่เข้ามา เพราะการที่เราได้รับโอกาสย่อมแปลว่าคนอื่นมองเห็นว่าเราสามารถทำได้

 

ในทุกๆ โอกาส…

ถ้าเรามีความรู้สึก “อยากทำ” มากพอ

เราจะจัดสรรหาเวลามาลงมือทำมันได้อยู่ดี

 

ส่วนตัวแปรสุดท้ายที่สำคัญและจะเป็นตัวจัดระเบียบให้ทุกอย่างหล่อหลอมไปด้วยดี คือ “วินัย” เพราะวินัยจะทำให้เราสามารถทำอะไร “ซ้ำๆ” ได้ และมันจะกลับไปทำให้เกิด “ประสบการณ์” ที่ดี รวมถึงบังคับให้เราใช้ “เวลา” จดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นได้เรื่อยๆแม้จะไม่มีความอยากทำต่อแล้วก็ตาม … นั่นแหละมันจะพาเราไปพบกับ “โอกาส” ที่เข้ามา และสุดท้ายเราเองก็จะรู้ว่า เรา “ไม่ชอบ” อะไร ก่อนที่จะวนกลับไปเริ่มต้นสร้าง “วินัย” กับสิ่งใหม่

 

สุดท้ายแล้วการเดินทางสู่ความสำเร็จมีอยู่ 2 วิธี คือ การอดทนทำสิ่งที่เราอยู่กับมันซ้ำๆไปเรื่อยๆจนเจอแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ กับ เลิกทำสิ่งที่ไม่เวิร์กแล้วไปหาอะไรใหม่ที่เราสามารถอดทนทำมันได้ซ้ำๆไปจนถึงแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงเชื่อว่าการที่รู้ตัวว่าเราไม่ชอบอะไรนั้น มันจะเข้ามาช่วยลดระยะเวลาในการ “หาสิ่งใหม่ๆ” ได้ง่ายขึ้น

 

แต่อย่าลืมละกันว่า… ทั้งหมดนี้มันเป็นเพียงแค่ประสบการณ์ของผมเอง ใครทีได้อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ก็ขอบอกว่าคุณไม่จำเป็นต้องเชื่อ ต้องมาทำตาม หรือถ้าหากว่าคุณคิดว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ก็ขอให้คุณมองผ่านมันไปแล้วบอกกับตัวเองว่า ชั้น “ไม่ชอบ” ในสิ่งที่ไอ้นี่มันเขียนเลยแม้แต่นิด พร้อมกับกดปิดหน้าจอนี้ลงไป

 

… แล้วรีบเดินทางไปหา “แรงบันดาลใจใหม่” อย่างที่คุณต้องการ :)

 

 

-012 : ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เราคงได้แค่มองแล้วถอนหายใจเบา ๆ

 

 

สธ.เผยคนไทยฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก

เผยส่วนใหญ่ใช้วิธีแขวนคอ

พบสาเหตุจากดื่มสุรา-ป่วยซึมเศร้า-ปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุบางครั้งผมก็นึกแปลกใจว่า ทำไมคนถึงฆ่าตัวตายมากขึ้น ทั้งๆ ที่เราควรจะมีความสุขล้นเหลือจากความสะดวกสบาย ความคิดดีๆ ที่ส่งผ่านหากัน ไปจนถึงกลุ่มก้อนสังคมที่รวมตัวกันจากสิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นชื่นชอบ

 

โลกแคบลงให้เราติดต่อและมองเห็นกันได้ง่ายขึ้น

ความสำเร็จถูกยึดโยงใยให้ส่องผ่านและเหลือบตาดูได้เยอะขึ้น

 

ในแง่หนึ่ง…

เราจะเห็นความสำเร็จอันสูงส่งลิบลับจากคนกลุ่มหนึ่ง

 

และในอีกแง่หนึ่ง….

เราจะเห็นคนอีกกลุ่มหนึ่งหลงเชื่อว่า

มันมี “สูตรสำเร็จ” แห่งความสำเร็จ

 

อย่าหลงเชื่อความฉาบฉวยในทุกอย่างที่อยากได้

คิดว่าง่าย และเด็ดปลายยอดอ่อนมากินเลยโดยไม่ปลูกไม่สร้าง

 

เคยสังเกตไหมว่า .. กลุ่มก้อนที่เรา “รัก” และคิดว่า “ดี” ทั้งหลาย จะช่วยกันเสพติดในสิ่งเหมือนกัน พูดจาประสาเดียวกัน หลงไหลมี Passion ในชีวิตที่เราต้องการเหมือนๆกัน จนเป็นความรู้สึกแบบเดียวกันและคิดเหมือนกันไปเสียหมด

 

การแสดงความเห็นที่แตกต่างออกไปในกลุ่มก้อนนั้นๆ อาจจะทำให้ถูกมองว่า แตกแยกจากพวกเดียวกัน และไม่มีความฝัน ความหวัง และความรู้สึกร่วมกันอีกต่อไป ไม่ได้สิ เราต้องเป็นเหมือนๆกัน เพราะนั่นคือปลายทางแห่งความสำเร็จในทิศทางเดียวกัน

 

มาถึงจุดหนึ่ง.. กลายเป็นว่าเราลืมเลือนความเป็นตัวของตัวเอง และถูกหลอมรวมความเป็นตัวเองที่ “เหมือนกัน” เพื่อให้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ความสัมพันธ์” ในกลุ่มก้อนที่ไม่มีชื่อเรียก

 

และสุดท้ายเราก็ลืมไปว่า … เราต้องการอะไร ?

ฝันจะสร้างปราสาทใหญ่ แต่ยังปลูกหญ้าไม่เป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับความสำเร็จไม่ได้เรียกว่าความล้มเหลว เพราะต่อให้คุณล้มอีกกี่ครั้ง คุณก็ยังสามารถเดินทางไปสู่ความสำเร็จได้ในวันใดวันหนึ่ง ถ้าหากคุณกล้าที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับมันด้วยตัวเอง

 

ฟังแล้วรู้สึกดี …

แต่ผมว่านี่ก็เป็นอีกกับดับของความรู้สึกที่อยากจะสำเร็จ

 

ถ้าหนทางสู่ความสำเร็จมันหอมหวานและงดงามจริง

ทำไมพวกคุณถึงยอมรับกับความล้มเหลวไม่ได้ล่ะ ?

 

ผมเหลือบมองผู้คนรอบตัวหลายกลุ่มก้อน เห็นพวกเขาเหล่านั้นพูดจาภาษาเดียวกัน และก่นด่าว่าผมคือคนคิดลบและไม่มีวันเข้าใจศาสตร์แห่งความสำเร็จ โดยเฉพาะเวลาที่ผมพูดถึงพวกเขา หรือต่อให้บางครั้งผมไม่ได้พูดถึงเขา เขาก็ยังคิดว่าผมพูดถึงอยู่ดี เพราะ อคติแห่งความสำเร็จมันถูกหล่อหลอมให้ฝังแน่นยิ่งกว่ารอยคราบที่ซักไม่ออกด้วยผงซักฟอกเสียอีก

 

ผมมองเห็นคนพูดไม่หยุดถึงความเก่งกาจของตัวเอง แต่เมื่อเขาเปลี่ยนเป็นคนฟัง เขากลับเมินเฉยที่จะฟังคนอื่นพูด และมันสะท้อนให้เห็นว่า โลกนี้ไม่มีใครอยากจะรับฟังความสำเร็จของใครจริงๆ แต่เราพร้อมจะพูดถึงความยิ่งใหญ่ของตัวเอง แม้ว่าความเป็นจริงความยิ่งใหญ่นั้นจะเป็นแค่เศษเสี้ยวของความสำเร็จที่ฝันไว้ก็ตาม

 

ถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้ แล้วกลายเป็นว่าทำให้รู้สึกว่า ผมกำลังว่าและก่นด่าใคร ผมก็คงต้องขอโทษไว้ด้วย ณ ตรงนี้ เพราะเอาจริงๆ แล้วผมแค่อยากระบายความคิดที่มีต่อสังคมในช่วงเวลาหนึ่งไว้ใช้เตือนสติตัวเอง แต่ถ้าเกิดมันไปทำลายฝัน ความคิดบวก และสิ่งดีๆ ของคุณไป ผมก็ขอแสดงความเสียใจมาด้วยความเคารพอย่างสูง

 

ถ้าคุณโกรธเกลียดผม หรือ โทษว่าผมก่นด่าความฝันของคุณ ผมคงทำได้แค่ถอนหายใจและคิดว่า ทำไมฝันของคุณมันช่างเบาบางจนถูกคนถากถางไม่ได้เอาเสียเลย

 

ส่วนถ้าใครที่เป็นพวกหันหัวสวนกระแสความสำเร็จ ต้องการเตือนสติให้โลกนี้ตรึกตรองดูก่อน ผมก็ชอบสิ่งที่คุณคิดเหมือนกัน แต่มันก็ไม่ได้มีผลอะไรให้ใครฟังคุณหรอกครับ เพราะคุณก็คิดเหมือนคนอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อให้กลายเป็นอีกกลุ่มก้อนหนึ่งที่ “ต่อต้าน” ความสำเร็จ ให้ตัวเองรู้สึกดีเหมือนกันที่วันนี้คุณไม่ประสบความสำเร็จไง หรือคุณกล้าบอกไปตรงๆว่า อ้อ เราไม่ได้อยากจะประสบความสำเร็จเลยนะในชีวิต เราเลยต่อต้านคนที่มุ่งหาความสำเร็จ

 

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณคงสงสัยว่าไอ้นี่มันต้องการจะบอกอะไร ทำไมผรุสวาทลั่นวาจาด่าเค้าไปทั่ว ผมก็บอกตรงๆว่า อ้อ ผมเป็นคนชั่วคนหนึ่งที่ไม่ได้คิดอะไรกับชีวิตมากเหมือนพวกคุณ แค่คนธรรมดาที่หายใจรอวันตายไปงั้นๆ

 

เพียงแต่ผมอยากพูดความรู้สึกทั้งหมดออกมาจากใจจริง และไม่ได้ต้องการจะอวยหรือติ่งใครให้เสียเวลา เพราะทุกวิธีคิดของคนเราก็มีปัญหา รวมถึงวิธีคิดของผมด้วยเช่นเดียวกัน

 

มันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความต่าง…

และถอนหายใจให้กับโลกนี้ที่แสนจะอ้างว้างเบาๆ

 

….ก่อนที่เราจะเข้าสู่ยุคต่อไป :)

 

 

-013 : เราไม่ได้หยุดแค่ถูกใจ… เพราะมันมีอะไรให้แสดงความรู้สึกมากกว่านั้น

ในที่่สุด ปุ่ม Reactions ของ Facebook ก็ได้เพิ่มเติม “ความรู้สึก” ที่มีมากกว่า “ถูกใจ” ให้กับเราจนได้ โดยมีทั้ง ตลก โกรธ เศร้า ประหลาดใจ รัก …

 

ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เริ่มมีหลายคนแสดงความรู้สึกกันอย่างสนุกสนานต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจการตลาด ผมคิดว่านี่อาจจะเป็นโอกาสในการตรวจสอบ ฐานแฟนคลับ หรือคนที่มีความสัมพันธ์กับคุณ โดยเฉพาะเจ้าของเพจอาจจะใช้ในการวิเคราะห์ลูกเพจต่างๆที่กดอะไรมากกว่าปุ่ม “ถูกใจ” ซึ่งส่งผลกับการต่อยอดอะไรบางอย่างไปในอนาคตที่มีต่อแบรนด์ หรือต่อเจ้าของแฟนเพจ

 

ในฐานะที่เป็นผู้ใช้เอง การแสดงความรู้สึกที่มีต่อเพื่อนๆ หรือคนรอบข้างได้หลากหลายมากขึ้น เราคงได้มีโอกาสกดปุ่มแสดงความเสียใจ “เศร้า(Sad)” ได้อย่างถูกกาลเทศะ เมื่อได้รับทราบถึงการสูญเสียจากสถานะของใครบางคนบน News Feed

 

หากมองออกไปเพื่อเปรียบเทียบระหว่างโลกออฟไลน์กับโลกออนไลน์ เราจะเห็นว่า “ความรู้สึก” เป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้น แม้แต่ในโลกออนไลน์ก็ตาม เริ่มตั้งแต่ ทำไมถึงไม่กด Like ให้ ทำไมถึงอ่านแล้วไม่โหวต หรือแม้แต่ทำไมเธอถึงไม่ Tag ขอบคุณชั้น บลาๆๆ มากมาย ที่ส่งผ่านความรู้สึกของคนเราในโลกออนไลน์มาให้อยู่ในโลกออฟไลน์หรือชีวิตจริง

 

ส่วนหนึ่งแสดงให้เราเห็นถึงความผูกพันและความสำคัญ และมันกำลังหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งกับชีวิตเรามากขึ้น มากขึ้น และมากขึ้น ซึ่งผมก็ไม่สามารถบอกได้หรอกครับว่า การหลอมรวมนั้นมันเป็นเรื่องที่ดีหรือร้ายกันแน่

 

ผมสังเกตเห็นว่า คนกลุ่มหนึ่งเริ่มรู้สึกว่า เราแสดงความเห็นกันมากขึ้น เราทุกคนแชร์กดไลค์ตามกระแส ติดตามข่าวสารดังชั่วข้ามคืน เพื่อให้คนอื่นรู้สึกว่าเรารู้ ซึ่งมันก็จะผ่านมาแป๊บเดียวแล้วก็ผ่านไป แต่เอาเข้าจริงการแสดงความเห็นแบบนั้นก็ไม่สามารถทวนกระแสของการแสดงความคิดเห็นอันเชี่ยวกรากบนโลกออนไลน์ไปได้เช่นเดียวกัน

 

ยิ่งเกิดความเสมือนมากขึ้นเท่าไร เราก็ยิ่งเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่เราลืมไปก็คือ เราอาจจะไม่รู้เลยว่า ความจริงที่เราจับต้องอยู่นั้น มันเป็นเพียงแค่ความรู้สึกที่ไม่จริงบนโลกออนไลน์ ที่มันควรจะสลายหายไปในชั่วพริบตาที่เรากลับมาสู่ความเป็นจริง

 

เพราะมันเหมือนจริงเกินไปหรือเปล่า เราจึงกล้าที่จะตัดสิน ฟันธง ก่นด่า เหมารวมและนินทาว่าคนเหล่านั้นเป็นอย่างไร เป็นแบบไหน และไปรู้สึกรู้สากับการกระทำของเขาจนเกิดเหตุ ทั้งๆที่จริงแล้วเขาไม่ได้รู้สึกและสนใจอะไรเราเลย

 

เพราะมันเป็นเพียงออนไลน์หรือเปล่า เราจึงกล้าที่จะแสดงความเห็น คอมเม้นท์ ด่าด้วยคำแรงๆ กดอันฟอลโลว์ กดอันเฟรนด์ บล็อค ไปจนถึงรีพอร์ทพวกเขา เพียงแค่ว่าเขาไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่เราต้องการเท่านั้น

 

เราลืมไปแล้วว่าโลกออนไลน์กลับกลายเป็นโลกจริง ว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นแบบนั้นจริงๆ ในขณะเดียวเราก็ลืมไปแล้วว่าโลกจริงมันก็สามารถปั้นแต่งสิ่งที่โกหกหลอกลวงได้เช่นเดียวกัน คำพูด การกระทำ จิตใจ หรือแม้แต่สิ่งที่เรามองเห็นด้วยหัวใจ ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงจากใจของเขาคนนั้น

 

โลกออนไลน์ไม่ได้บอกอะไรเรา โลกจริงก็ไม่ได้บอกอะไรเรา แต่ความเสมือนจริงที่กลมกลืนบนสองโลกนี้ทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่เราเห็นกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง การแสดงออกคือสิ่งที่เป็นจริง และการตัดสินคือสิทธิอันชอบธรรม

 

เราให้ความสำคัญกับความรู้สึก

เพราะเราลืมไปว่ามันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

 

และเราก็เชื่อมั่นในตัวเองว่า

เราสามารถฉุดรั้งและยึดมันไว้ได้ตลอดไป

 

ป.ล. ทั้งหมดนี้ผมเขียนมั่วๆนะครับ ลองทำตัวฉลาดบ้าง เผื่อว่าจะดูฉลาดขึ้น :)

 

 

-015 : ไม่ว่าคุณจะเข้าใจจิตใจมนุษย์สักแค่ไหน ก็ไม่ควรไปยุ่งเรื่องความรักของคนอื่น

 

 

หน้าที่ของที่ปรึกษาที่ดีควรเป็นแบบไหน ?

ผมมักนั่งคิดอยู่เงียบๆ และถามตัวเองหลายครั้งเวลาที่ได้รับฟังปัญหาความรักของคนอื่น เราควรจะแนะนำอย่างไรดีนะ ปลดปล่อยความคิดของตัวเองไปให้สุดๆอย่างที่เรามองเห็นและวิเคราะห์ว่ามันควรจะเป็น หรือ นั่งเงียบๆให้กำลังใจในสิ่งที่เขาเป็นอย่างตั้งใจโดยไม่ต้องมีคำตอบ

 

ความรักมันเป็นเรื่องแปลกแสนแปลก เพราะบางครั้งสิ่งที่คุณคิดด้วยเหตุผลและวิเคราะห์ด้วยหลักการ กลับทำให้หัวใจและอารมณ์ของคุณกลายเป็นคนที่ไร้วิญญานในที่สุด

 

“มึงคงมองความจริงมากไปมั้ง ?” มิตรสหายท่านหนึ่งกล่าวปนสมเพชเบาๆ เวลาที่ผมเอาเรื่องคู่รักที่มีปัญหาไปเล่าให้ฟังในบทสนทนา พร้อมกับอธิบายแนวทางแก้ไขเป็นฉากๆ ราวกับตัวเองเป็นผู้รู้ปรมาจารย์ด้านความรัก ทั้งที่ในชีวิตนั้นผ่านพ้นมาเพียงนิ้วมือข้างเดียว

 

“ต่อให้ทฤษฏีกูถูกแค่ไหน ยังไงกูก็กลายเป็นหมาทุกที” ผมกล่าวด้วยเสียงหัวเราะปนสังเวชเบาๆ เวลาที่รู้ว่าผู้ปรึกษาเอาความเห็นของผมไปบอกเล่าให้ “คู่” ของเขาฟัง

 

เมื่อก่อนผมเป็นพวกที่คิดว่าตัวเองถูกเสมอ จะเรียกว่า Self Center ก็ได้ เพราะไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไร ปัญหาแค่ไหน ผมก็สามารถฟันธงจัดการให้มันจบไปได้ง่ายๆ พร้อมกับกลยุทธ์และวิธีการที่จะทำให้คนทั้งสองดำเนินการอย่างที่มันควรจะเป็น

 

แต่ความเป็นจริงที่ตอกย้ำผมจนได้สติ คือ “เรามีสิทธิอะไรไปสั่งให้เขาเป็นอย่างที่เราต้องการ” กับ “เมื่อคนรักคืนดีกัน ทฤษฏีสร้างสัมพันธภาพกลับตกมาซวยที่กู”

 

เมื่อเกิดความผิดพลาด ทั้งสองต่างมองหาว่าใครเป็นคนผิด แต่เมื่อปรับความเข้าใจได้ คนสุดท้ายอย่างที่ปรึกษานีี่แหละที่แม่งผิดเสมอ … ผิดทั้งเป็นคนที่ “เสือก” เรื่องชาวบ้าน และผิดทั้งเป็นคนที่ “สันดาน” เสียอยากเห็นผัวเมียเขาเลิกกัน

 

เมื่ออายุอานามและประสบการณ์ในการปรึกษาแก่กล้าขึ้น.. ผมจึงกลายเป็นคนที่ไม่ค่อยกล้าที่จะให้คำปรึกษาใครนัก หรือถ้าให้ก็คงต้องบอกว่า “ลองไปคิดก่อนนะ” หรือ “พี่มองแบบนี้” ให้เหมือนเป็นการป้องกันตัวกลายๆ ว่า “อย่ามาโทษกูน้าาา”

 

บางครั้งเราให้คำปรึกษา

เพราะเราอยากเห็นชีวิตใครสักคนนั้นดีขึ้น…

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ไอ้ที่ว่านั่นแหละ ทำให้ผมรู้ว่าการเป็นที่ปรึกษาความรักที่ดี ไม่ใช่การชี้ว่า คนนู้นผิด หรือ ควรทำแบบนั้นแบบนี้ แต่มันเป็นการยิ้มให้แล้วบอกว่า “เธอยังมีฉัน” อยู่ข้างๆ และเมื่อไรที่รู้สึกอ้างว้างก็แวะมาได้ละกัน

 

หรือถ้าหากสามารถให้ความเห็นได้ ก็จงให้ความเห็นแบบกลางๆ ที่ไม่ใช่มั่นอกมั่นใจว่ามันต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ หรือควรทำแบบนู้นนั้นนี้เลย รับรองพูดยังไงก็ไม่มีทางเวิร์ก

 

เพราะถ้าการให้ปรึกษา เพราะอยากเห็นใครสักคนดีขึ้น

แล้วเค้ามองเราเป็นหมาในภายหลัง มันก็เจ็บช้ำไปหนึ่งดอกฟรีๆ

ถ้ายิ่งมองเราไม่ดี แล้วชีวิตเราชิบหายตาม แบบนั้นลามปามหนักกว่าเก่า

 

สุดท้ายแล้วจนถึงวันนี้ ผมก็ยังมีคนมาปรึกษาอยู่เรื่อยๆ แหละฮะ อาจจะไม่มากเหมือนก่อนด้วยภาระหน้าที่ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมมีและเชื่ออยู่เสมอในการให้คำปรึกษาก็คือ การทำให้เขาเจอคำตอบของเขาเอง

 

ถึงแม้คำตอบนั้นจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด

แต่ผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วมนุษย์ทุกคนต้องเลือกทางเดินชีวิตของตัวเอง

 

 

-016 : 1 ปีที่ผ่านมา… กับบทสัมภาษณ์ที่ไม่เคยมีใครได้อ่าน

 

บทสัมภาษณ์นี้เป็นบทสัมภาษณ์ที่ผมถูกถามไว้เมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ผมเอากลับมาเรียบเรียงใหม่ด้วยตัวเองอีกครั้งและลงเป็นที่ระลึกไว้ในที่นี้ เพราะบทสัมภาษณ์ฉบับนี้คงไม่ได้ถูกตีพิมพ์อีกแล้วครับ

Q : แนะนำตัวหน่อยครับว่าพี่เป็นใครมาจากไหน ?

 

สวัสดีครับ พี่ชื่อ “หนอม” ครับ ถนอม เกตุเอม เจ้าของเพจ TAXBugnoms เป็นบล็อกเกอร์ด้านภาษีและการเงิน วิทยากร นักเขียน อาจารย์พิเศษ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต แล้วก็เป็นข้าราชการในหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งครับ

 

จบการศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทด้านบัญชีครับ แล้วประกาศนียบัตรด้านภาษีอากร ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา เคยทำงานเป็นผู้ช่วยผู้สอบบัญชีอยู่ที่สำนักงานสอบบัญชีแห่งหนึ่งครับ  แล้วก็เคยทำธุรกิจบ้าๆบอๆมากมายตั้งแต่ขายตรงไปจนถึงทำเว็ปไซต์ครับ

Q : พี่มาเริ่มทำเพจ Taxbugnoms ได้ยังไงครับ

 

มันเริ่มมาจากตอนที่ตัวเองลาออกจากงานด้านสอบบัญชี มาเป็นข้าราชการ ตอนนั้นก็รับทำงานหลายแบบ ทั้งพวกพวกโปรโมทเวปไซด์ รับทำปรับแต่งข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ติดอันดับกูเกิ้ล (SEO) ทำพวก Affiliate ต่างๆ แล้วก็ได้มีโอกาสมาเรียนปริญญาโทด้านบัญชีที่จุฬา โดยมีวิชาหนึ่งชื่อว่า “บัญชีภาษีอากร” ทีนี้ที่เรียนปริญญาโทอยู่มันจะมีเพื่อนๆแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ ช่วยกันถอดเทปออกมาเป็นชีทไว้อ่านสอบ ช่วยๆกันสรุปข้อมูลอะไรแบบนี้

 

ตอนนั้นเราก็ทำงานที่เกี่ยวกับด้านภาษีอยู่แล้ว เราก็เห็นว่าเรามีข้อมูลตรงนี้ เราทำเวปไซต์เป็นด้วย และตอนนั้นมันยังไม่มีใครทำเรื่องพวกนี้เลย เราก็สงสัยว่า เออ… แล้วทำไมไม่มีใครพูดเรื่องภาษีง่ายๆวะ เพื่อนๆ หรือคนรู้จัก เวลามีปัญหาภาษีอะไรก็มักจะโทรมาถามตลอด ตอนนั้นรู้ตัวเองนะว่าไม่ได้เก่งเรื่องภาษีมากหรอก แต่ว่าโอเคเรียกว่าพอรู้เรื่อง พอมีความเข้าใจในระดับนึง

 

ทีนี้.. พอได้โอกาสลงมือทำ มันก็เหมือนกันเอาความรู้มาพัฒนาตนเอง เลยทำ Blog ชื่อว่า “บล็อกภาษีข้างถนน” (tax.bugnoms.com) ข้อมูลในการทำเวปไซด์ตอนแรกก็เอามาจากไฟล์ที่เพื่อนๆถอดเทปมานี่แหละ เอามาเขียนใหม่ให้มันเป็นภาษาตัวเอง ตอนแรกก็ยังเป็นภาษาทางการอยู่แหละ

 

แรกๆที่ทำบล็อกเนี่ย ไม่มีคนดูเลย คนเข้ามาวันละ 10 – 20 คนเองมั้ง ผ่านไปประมาณ 2 ปี เราก็เริ่มมาทำ Facebook Fanpage ขึ้นมาในชื่อ TAXBugnoms นี่แหละ ตอนนั้นได้ทางเพจ Thailand Investment Forum มาช่วยแนะนำ ซึ่งมันก็เกิดจากความหน้าด้านของเราเองนี่แหละ เราส่งข้อความไปทาง Message แนะนำตัวกับทางพี่เค้าว่า ”ผมกำลังทำเพจชื่อนี้อยู่ครับ มีรายละเอียดยังงี้ๆๆๆ ถ้าสนใจและคิดว่าดี ผมอยากให้พี่แนะนำให้หน่อยครับ (คือหน้าด้านมากเลยกูเนี่ย)”

 

หลังจากนั้นพี่เค้าก็ตอบกลับมา และช่วยแนะนำให้ ตอนนั้นจำได้ว่ามีคนกด Like เพจอยู่ประมาณ 800 คนได้ พอพี่เค้าแนะนำเพจให้ก็ขึ้นมา 2,000 กว่า ๆ เรานี่แบบโคตรดีใจชิบหายเลย คิดว่าสุดยอดแล้วนี่ชีวิตกู ประสบความสำเร็จมากๆแล้วในตอนนั้น (หัวเราะ)

 

ทีนี้พอเริ่มมีคนรู้จักเพิ่มขึ้น มีคนช่วยแนะนำเพจเพิ่มขึ้น อย่างจ่าพิชิต Drama-Addict ก็เคยช่วยเหลือ มันก็เลยมีคนเข้ามาถามคำถามบ่อยขึ้น จนรู้แล้วว่าอ้อมันมีแนวทางหรือเรื่องที่อยากรู้แบบไหน เราก็เขียนบล็อกเพิ่มใส่สไตล์ของตัวเองเข้าไปมากขึ้น

 

ประกอบกับ ช่วงนั้นก็เริ่มมาสนใจด้านการลงทุนพอดี (ประมาณ 3-4 ปีก่อน) คือ เริ่มลงทุนมาได้สักพักก็เลยแชร์ประสบการณ์ความรู้ด้านการลงทุนของตัวเองแบบผิดๆถูกๆ หมายถึงเรื่องที่เราผิดพลาด หรือเรื่องที่เราทำได้ เพราะเรามองตัวเองเสมอว่าเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน เราเป็นเหมือนกับชาวบ้านที่คิดลงทุนเหมือนๆกันแต่แค่มาแชร์ประสบการณ์ให้คนมีความสนใจมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราก็ใช้เงินแบบว่าแย่มาก

 

Q : เล่าเรื่องนี้ให้ฟังหน่อยครับ ที่บอกว่าใช้เงินแย่มาก

 

คือตอนแรกทำงานเอกชนได้เงินเดือนสูงสุดตอนนั้นประมาณ 3-4 หมื่นบาท และให้ที่บ้านประมาณ 2 หมื่นบาท ส่วนเงินที่เหลือทั้งโอที ค่าจ็อบอะไรพวกนี้เราเอามาใช้หมดเลย ตอนนั้นแฮปปี้สุดๆ เราคิดว่าโคตรรวยเลย เรียกได้ว่า อะไรที่อยากได้ เราซื้อหมดเลย โคตรเปลืองเลยครับ

 

เรื่องกินก็เหมือนกันต้องกินหรู กินข้างถนนไม่ได้ มันร้อนต้องเข้าห้าง ตอนนั้นเราทำงานแถวๆย่านกลางเมือง เราก็กินทุกวันแหละ ของดี สิ้นเดือนก็หมดตัว แต่ว่าไม่รู้สึกอะไร แต่พอเวลาผ่านไปเราก็เริ่มมองเห็นว่า เฮ้ย แล้วทำไมคนอื่นมีเงินทำไมเราไม่มีเงิน (อ้อ..เพราะเค้าเก็บเงินไง)

 

เราก็เริ่มมาบริการจัดการชีวิตใหม่ เริ่มบริหารเงิน จัดการชีวิตตัวเองให้ดีขึ้นตามความสามารถ ยิ่งพอย้ายมาทำราชการ เงินเดือนละฮวบเหลือไม่ถึงหมื่น มันยิ่งตอกย้ำว่า เฮ้ย …เราต้องรับผิดชอบตัวเองได้แล้ว

 

Q : แล้วแบบนี้พี่ไม่ลำบากหรอครับ ?

 

มันถือว่าเป็นเรื่องโชคดีอยู่อย่างหนึ่งที่ว่า ต้นทุนทางบ้านของเราโอเค มีฐานะในระดับหนึ่งไม่ได้ลำบากที่เราต้องไปช่วยเหลือ ขอแค่อย่างนึงที่เราเตือนตัวเองเสมอก็คือ อย่าไปทำให้เค้าต้องลำบากเพราะเรา ดังนั้นเราก็ควรรับผิดชอบตัวเองบ้าง อย่าสปอยตัวเอง ถ้าเค้าถามว่ามีเงินไหม เราก็บอกมีเงิน ถีงไม่มีเงินเราก็บอกว่ามี พยายามหาเงิน หารายได้อื่น จัดการชีวิตตัวเองไม่ให้ต้องพี่งใคร แล้วก็จะได้กลับไปดูแลเขาได้บ้าง จำได้ว่าตอนนั้นก็ไม่ซื้ออะไรเลย ข้าวเช้ากินบ้านข้าวเย็นก็กินบ้าน

 

หลังจากทำราชการชีวิตก็เปลี่ยนเลย แต่ก่อนไอ้ที่กินนู่นนั่นนี่ไม่ได้ กระแดะคิดว่าตัวเองเป็นคนเจ๋ง คนคูล พอไปอยู่อีกสังคมหนึ่ง เราสำนึกเลยว่า เฮ้ย … บางอารมณ์เงินแม่มไม่ใช่คำตอบ บางคนเขามีความสุขมากกว่าคนมีเงินเยอะๆเสียอีก เราเลยนึกได้ว่า โอเค.. เงินมันไม่ได้สำคัญกับชีวิตมาก ถ้าหากเราบริหารจัดการเงินเป็น สุดท้ายมันก็ค่อยๆเปลี่ยนตัวเรามาให้จัดการชีวิตตัวเอง เริ่มมาทำงานเขียน หาความรู้ ทำเพจอย่างที่เล่าไป … จนมาถึงทุกวันนี้

Q : ตอนนี้พี่ทำเพจมาประมาณ 5 ปีแล้วพี่ได้อะไรบ้าง ?

 

อย่างแรกที่แน่ๆ คือความรู้เพิ่มขึ้น อย่างที่บอกว่า แต่ก่อนตัวเองก็อาจจะพอรู้เรื่องของภาษีแต่มันก็เป็นในระดับของคนที่เรียนทฤษฏีมา แต่พอมาทำเพจด้านนี้ เราจะได้ความคิด มีคนมาแชร์ ได้เปิดกะโหลกมากขึ้น

 

อย่างที่สองคือ ได้รู้จักคนมากขึ้น ซึ่งมันเป็นอะไรที่ตลกมาก ต้องเล่าก่อนว่าเมื่อก่อนเป็นคนที่แบบอินดี้มาก คือไม่ชอบรู้จักคน ไม่อยากรู้จักใคร ไม่ชอบเจอคน ไม่ชอบคุยกับใคร ไม่ชอบไปทำความรู้จักคน เรื่องเยอะมากกกกก แต่พอมาทำเพจ ทำให้เราต้องรู้จักคน และการรู้จักมันทำให้มีโอกาสเข้ามา จำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งมีคนเรียกไปพูด ตื่นเต้นมาก เมื่อก่อนเป็นคนที่พูดไม่เป็นเลย อายมาก เป็นพวกเล่นมุขขำๆอยู่ในหมู่เพื่อนฝูง แต่พอออกไปข้างนอกก็จะเงียบๆกลัวๆ

 

ทีนี้มีคนจ้างไปพูด ครั้งนั้นมันเลยเปลี่ยนชีวิตเราเลย คือไอ้ความกลัว ความไม่ชอบมีนะ มีเยอะด้วย แต่คิดอย่างเดียวว่า ถ้าหากวันนี้ไม่กล้าเริ่มออกไปซักครั้ง เราก็คงไม่ได้ก้าวอีกแล้ว ก็เลยตัดสิน เอาวะ!! ไปก็ไป

 

ถามว่าดีไหม เราเชื่อว่า มันดีที่สุดแล้วนะ ณ ตอนนั้น กลับมานั่งถามตัวเองว่า เฮ้ย กูพูดได้ขนาดนี้เลยเหรอวะ แถมแม่งยังได้เงินมาด้วย มันก็เริ่มเปลี่ยนทัศนคติตัวเองไป

Q : พี่มองตัวเองในอีก 2-3 ปีข้างหน้ายังไงบ้างครับ

 

คร่าวๆที่วางไว้ คงจะต้องเชี่ยวชาญภาษีมากขึ้นนะ คือ พอปีนี้ (2015) มาได้ร่วมงานกับ Aommoney เราก็จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ Aommoney จะเป็นความรู้สำหรับคนที่เป็นมือใหม่ถึงระดับกลางในเรื่องของภาษี แต่บล็อกที่เราเขียนอยู่เดิม จะทำให้มันเป็นเรื่องที่ยากขึ้น มีการวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดทางด้านภาษีให้ชัดเจนมากขึ้น

 

ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็คงเหมือนเดิมนะ เราว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่หาอะไรเพิ่มในวันนี้ แต่เป็นการเหลาอาวุธที่เรามีให้มั่นคงจะดีกว่า ถ้าอาวุธที่เรามีมันดีพอ มันจะช่วยต่อยอดให้เราเก่งขึ้น และมันจะพาไปสู่ด้านอื่นเอง

Q : พรี่หนอมคิดว่า เราควรคิดถึงคนอื่นตอนไหนครับ หมายถึงในแง่การช่วยหรือให้ความรู้คน คนที่จะสอนคนอื่นได้ จำเป็นต้องสำเร็จมาก่อนแล้วหรือเปล่า

 

มันมี 2 มุมมองนะ มุมแรก.. คนเราจะคิดถึงคนอื่นตอนที่ตัวเองมีพร้อม กับอีกมุม คือ คนเราคิดถึงคนอื่นตอนที่เราอยู่ระหว่างทางเดิน แต่ว่าคุณก็ไม่รู้หรอกว่าจุดไหนคุณจะพร้อม ดังนั้นจุดที่คุณควรจะเริ่มคิดได้คือจุดที่คุณไม่ได้ลำบากเกินไปที่จะช่วยคน และก็มีเวลาพอที่จะช่วยเหลือเขา

 

เหมือนเราไปทำบุญที่วัดเราอาจจะทำ 20 บาทก็ได้ นั้นก็คือจุดที่เริ่มคิดถึงคนอื่น คุณไม่ต้องรอให้มีแบบ 100 ล้าน ผมทำจะ 2 แสน แบบนี้มันเสียเวลาไง

Q : สิ่งที่ดีที่สุดในความเป็นพรี่หนอม คืออะไร?

 

เป็นคำถามที่ดีนะ ชอบมากเลย พี่ว่ามันคือการปรับตัวนะ คือ ทุกวันนี้กูอยู่กับใครก็ได้ ถึงแม้มันจะแบบมีไม่ชอบบ้าง ทรมานบ้าง แต่การที่เราปรับตัวยอมรับเพื่ออยู่กับคนอื่นและตัวเองได้ มันเป็นอะไรที่เรารู้สึกว่ามันดี .. อย่างน้อยมันดีสำหรับเราเองแหละ

Q : จากที่รู้จักพี่มา ผมมั่นใจว่าพรี่หนอมน่าจะได้ค้นพบและทำความรู้จักกับดาร์คไซค์ของตัวเองแล้ว มีวิธีการจัดการ การควบคุมมันยังไง

 

เรื่องนี้ไม่ต้องคิดอะไรมากนะ คิดแค่ว่าแบบคุณไม่ชอบให้ใครทำอะไรกับคุณ คุณก็อย่าไปทำอะไรกับเค้า คือการที่เราอยากทำเหี้ย เราหงุดหงิด อยากด่าคน อยากโวยวาย แต่คิดกลับกัน เค้าหงุดหงิดแต่เค้าควบคุมอารมณ์ที่จะไม่ด่าเราได้เราก็แฮปปี้ ดังนั้นเราตั้งตัวเองไว้เลยว่า เราไม่ชอบอะไร เราอย่าไปทำกับคนอื่น อันนี้มันเป็นกฎเหล็ก

 

ถ้าเราไม่ชอบอะไรซักอย่างแล้วเราไปทำเอง แปลว่าคุณยังควบคุมตัวเองไม่ได้ คุณก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปบอกว่าไม่ชอบ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราไม่มีหลุดนะ ในฐานะที่เป็นมนุษย์ เรามีหลุดเสมอแหละ แต่สิ่งที่เราทำได้คือเรียนรู้แล้วก็ปรับตัวให้มันดีขึ้นจริงๆ

Q : สิ่งที่เป็นเเรงผลักดัน ที่ทำให้พรี่หนอมสามารถให้ความรู้ผ่านทางบล็อกภาษีข้างถนนแบบต่อเนื่องมาตลอดเวลานานแสนนานแบบนี้คืออะไร ผมมองว่ามันยากนะ ที่จะทำแบบสม่ำเสมอ ในยุคแรกๆที่บล็อก หรือเพจให้ความรู้ ยังไม่เป็นที่สนใจขนาดนี้

 

การทำอะไรซักอย่าง มันต้องมองว่าเราได้อะไรนะ พูดอีกอย่าง เวลาเราทำอะไรซักอย่าง ต้องมองว่าคุณได้อะไรจากการทำยังงั้น

 

อย่างน้อยพี่ได้ทบทวนและสร้างเสริมความรู้ตัวเอง พี่ได้รู้ทางตัวเองว่าอยากจะเป็นคนที่รู้จริงด้านภาษี รู้เป้าหมายตัวเอง ทีนี้ก็กลับไปคำถามเมื่อกี้ที่บอกว่า ทำไมต้องให้คนอื่น ทั้งๆตอนนี้ก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองพร้อม ตัวเองเก่งภาษี แต่ถ้ามีความรู้ที่ถ่ายทอดได้ เราให้เค้าไป มันก็เป็นระหว่างทางที่เราเดิน เราได้ประโยชน์ ได้ทบทวน คนอื่นก็ได้ประโยชน์ ได้ความรู้เพิ่มในสิ่งที่เราเขียนได้ มันก็ Win-Win ทุกคนนะ

 

ถามว่าอะไรผลักดันมาตลอดหลายๆปี ถ้าจะมีสิ่งผลักดันได้ก็น่าจะเป็น การที่ใครสักคนเห็นประโยชน์ของงานเรา อาจจะเป็นข้อความขอบคุณง่ายๆ กำลังใจเล็กน้อยๆจากอีเมลล์ ทำงานแล้วได้เงินบ้าง ได้รู้จักได้อนาคตต่างๆบ้าง มันก็ไม่ทำให้เราหยุดเขียนได้หรอก คือมันเป็นไปไม่ได้หรอกว่าเราอยู่ด้วยการถึกควายโบ้ทำอะไรนานๆต่อกัน แต่ว่าถ้าในจุดที่เราท้อแล้วมีอะไรมาแบบดันขึ้นมา สิ่งนี้มันจะทำให้เราลุกขึ้นได้ง่ายขึ้น

Q : Mindset สำคัญ ที่คนเป็นต้นแบบ หรือกูรู จำเป็นต้องมี

 

(อันนี้คิดมานานมาก) สิ่งที่กูรูทุกคนต้องมีคือ ความซื่อสัตย์ ไม่ใช่ซื่อสัตย์ไม่คดโกงใครนะ ซื่อสัตย์ในที่นี้คือในเมื่อเราเป็นคนให้ความรู้คน สิ่งไหนที่คุณไม่รู้คุณก็บอกไม่รู้ ยอมรับไปเลย มันคือความจริง

 

เรามองว่าอันนี้มันจำเป็นมากนะ เพราะถ้าคุณไม่รู้แต่เสือกบอกว่ารู้ มันไม่ใช่กูรู คุณแม่งมั่วแล้ว สิ่งที่สำคัญสำหรับผู้รู้คือรับผิดชอบในสิ่งที่เราให้ไป สิ่งที่เราเขียน สิ่งที่เราพูด และต้องรับผิดชอบให้ได้

 

เพราะมันจะมีจุดหนึ่งคือพอกูรู้เยอะๆ มันจะมี Super E-go พลังงานบางอย่างขึ้นมาว่า เฮ้ยๆๆๆ กูต้องรู้ทุกเรื่อง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ยังไง มันก็มีบางคำถามที่พี่อาจตอบไม่ได้ พี่ก็ยอมรับว่าพี่ตอบไมได้ ดังนั้น Mindset สำคัญที่สุดของกูรู นั่นคือการที่คุณไม่ได้หลอกคนอื่น และคุณก็ไม่ได้หลอกตัวคุณเอง

Q : การเป็นกูรู เป็นคนให้ความรู้ แน่นอนว่ามีหลายคนให้ความสนใจในแนวคิด การใช้ชีวิต เรื่องพวกนี้ทำให้รู้สึกกดดันบ้างไหม

 

การที่มีคนมาสนใจเรามันก็ดี เพราะมันแปลว่า งานของเราก็ได้รับความสนใจมากขึ้น ไม่รู้สึกกดดันนะ ถ้าคุณคิดง่ายๆว่า ยังไงมันก็ดีกว่าไม่มีคนมาสนใจคุณ มันจะไม่กดดันอะไรหรอกใช่ปะ คือคนชมก็รู้สึกดี คนด่ารู้สึกแย่ แต่ถ้าวันหนึ่งไม่มีคนพูดถึงคุณเลยสักคำนี้แม่มแย่สุดนะ วิธีจัดการง่ายๆ คือ คุณก็เป็นสิ่งที่คุณอยากเป็นไปดิ ถ้าเค้าไม่ชอบคุณเค้าก็เลิกตามคุณเองแหละ ไม่ต้องคาดหวังอะไรหรอกของพวกนี้ สุดท้ายมันก็หายไป

Q : คิดว่า Mindset คน กับการใช้ชีวิตเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร

 

อันนี้ขอลอกคำพูดพี่หนุ่ม Money Coach มาเลยนะ เคยคุยกับแกแล้วชอบมาก คือ คนทุกคนอยากจะรวย แต่เค้ายังไม่รู้เลยว่าต้องมีเท่าไหร่ถึงจะเรียกว่ารวย ทีนี้มีคนบางกลุ่มคิดว่าเห็นช่องว่างตรงนี้มาหากิน มันเลยกลายเป็นคนรวยเจอคนเหี้ย ก็เลยอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข และสุดท้ายคนดีก็ไม่มีแดกต่อไป เพราะมันก็ยึดมั่นในความรู้สึกดีๆ โลกมันก็เป็นอย่างนี้

 

ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต หากเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ มันก็น่าจะล่มสลาย วนไปวนมาเรื่อยๆ เดี๋ยวก็มาใหม่ แบบนี้แหละ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ควรจะเป็น Mindset จริงๆก็คือ เชื่อตัวเองนิดนึงก่อนไหม? ใครพูดอะไรมารับหมดเลย ไม่กรองเลย ทำอันนี้ดีก็ทำ อันนู้นดีก็ทำ อันนั้นดีก็ทำ สรุปทำทุกอย่างแต่ชีวิตไม่เคยดีขึ้นเลย

Q : พรี่หนอมหนีภาษีครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

 

พี่มั่นใจว่าชีวิตพี่ไม่เคยหนีภาษีนะเว้ย คือถ้าคุณคิดว่าผมหนีภาษีคุณจับผมให้ได้ก่อนนะครับ แล้วค่อยมาพูด (หัวเราะ) เอาจริงๆ โคตรเกลียดคำพูดคำหนึ่งที่ว่า “ใครๆแม่งก็โกง” คือถ้ามึงเหี้ยก็อย่าเอาคนอื่นไปร่วมหัวจมท้ายกับตัวเองด้วยเลยครับ

Q : รูปแบบภาษีในความคิดพี่ที่เหมาะกับคนไทยเป็นแบบไหน

 

เราชอบเอาเรื่องคอรัปชั่นไปผูกกับการจ่ายภาษี มันแปลกมาก เพราะสิ่งที่เราต้องดูคือการคิดอัตราภาษีเหมาะสมกับคนที่จะจ่ายหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าดูเงินที่จะจ่ายไปถูกนำไปบริหารหรือเปล่า เพราะท้ายที่สุดใครมาบริหารเราไม่รู้ สมมติคนบริหารดีไม่โกงภาษีประเทศดี แต่ถ้าอัตราไม่เหมาะสมคนใหม่มามันก็จะโกงยิ่งกว่าเดิม มันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องโกงไม่โกงไง มันเกี่ยวกับโครงสร้างและระบบภาษี เช่น เก็บภาษีกับคนจนเหมาะสมไหม ? เก็บกับคนรวยเหมาะสมไหม ไปโฟกัสตรงนั้น ไม่ใช่เก็บเท่าไหร่ก็ได้ ขอให้ทำประโยชน์ให้ประเทศ

 

หรืออีกคำพูดคือ ไม่อยากจ่าย จ่ายไปก็โกง มันตลกมาก มันตบหน้าตัวคุณเองว่าคุณก็โกงกฏหมาย เหมือนคุณด่าตำรวจ แต่ตำรวจจะแจกใบสั่งคุณให้ตำรวจเลยร้อยนึง แล้วคุณก็ไปด่าตำรวจ

 

สิ่งสำคัญคือดูพื้นฐานระบบของการการเสียภาษีที่ถูกต้อง การจัดเก็บที่ถูกต้อง เหมาะสมไหม เพราะจริงๆแล้วเราก็รู้กันดีกว่าภาษีไม่มีใครชอบที่จะจ่าย ดังนั้นสิ่งที่ต้องใส่ใจคือที่จ่ายทุกวันนี้มันถูกต้องและเหมาะสมแล้วหรือยัง

Q : สุดท้ายอยากฝากอะไรที่ประทับใจกับทางบ้านบ้างครับ

 

ออกไปทำมาหากินกันเถอะครับ อย่ามัวแต่ฝัน ประสบการณ์จากการลงมือทำสำคัญกว่าเยอะครับ