035 : งานหนักไม่เคยฆ่าใคร และงานที่ใช่ก็ไม่มีจริง?

.

หนูควรลาออกไหม?
น้องคนหนึ่งเอ่ยปากถามผม
หลังจากเล่าเรื่องชีวิตการทำงานของตัวเองให้ผมฟัง

ปัญหาการทำงานของวัยทำงานอย่างเราๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องของ “การทำงานหนัก” และ “การค้นหางานที่ใช่” ซึ่งผมเคยเขียนเรื่องนี้ไปหลายครั้งหลายคราว แต่พอดีมีอะไรมาสะกิดใจให้ต้องแตกประเด็นมาเขียนเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง

คนเรานั้นต้องการแรงบันดาลใจแค่ไหนมาขับเคลื่อนให้ได้ไปต่อ? คำถามนี้เป็นคำถามที่ผมเริ่มต้นถามตัวเองเวลาท้อ หรือ รู้สึกเหนื่อยหน่ายจากการทำงาน นั่นสินะ คนเราควรจะสร้างแรงบันดาลใจด้วยอะไรดี ถึงจะมีแรงใจให้ไปทำงานต่อไปได้ท่ามกลางความรู้สึกร้ายๆเหล่านั้น

มันคงเป็น “งานที่ใช่” หรือไม่ก็เป็น “งานที่เรารัก” ประโยคแรกของคำตอบในใจนั้นปลุกไฟที่กำลังมอดให้เราตื่นขึ้นมาอีกครั้ง นั่นสินะ เราเคยจินตนาการภาพแห่งความสุขเกี่ยวกับการได้ทำงานที่รักและไม่ต้องรู้สึกว่าทำงานตลอดชีวิตไว้ดีแค่ไหน วันนี้มันอาจจะเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งที่เรากำลังเดินทางไปสู่จุดนั้นนั่นแหละ

เอาล่ะ คิดได้แล้ว แบบนี้ต้องเดินไปต่อ
ลุกขึ้นสิ รออะไรอยู่!!

ในขณะที่เราจะลุกขึ้นสู้นะ ความคิดฉับพลันนั้นกลับตั้งคำถามขึ้นมาในสมองว่า “แล้วมันเป็นงานที่เรารักจริงๆเหรอวะ ถ้าหากมันเป็นงานที่เรารัก และมันใช่สำหรับเราจริง ทำไมเราถึงรู้สึกแบบนั้นล่ะ”

เออว่ะ
หรือว่ามันจะไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการจริงๆ

“เฮ้ย… ไม่หรอก ในชีวิตจริงมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรักอะไรตลอด ดูอย่างคนที่เรารักสิ เรายังมีช่วงเวลาที่รู้สึกไม่ดีกับเขา แต่มันไม่ได้แปลว่าเราไม่ได้รักเขานี่นา”  โชคดีเหลือเกินที่ส่วนของความรู้สึกดีๆในจิตใจ ยังมีพลังมากพอที่จะหยุดให้เรานั้นเดินต่อไปได้

“เอางานกับความรักมาเปรียบเทียบกัน
แบบนั้นมันไม่คิดตื้นๆเกินไปหน่อยเหรอ”

ยังอีกเหรอเนี่ย… เสียงความคิดลบตบกลับด้วยคำถามแดกดัน ทำนองว่ามีแต่คนโง่เท่านั้นที่เอา “ความรัก” ไปเปรียบเทียบกับ “งาน” มันจะเกี่ยวกันได้อย่างไรเล่า ในเมื่อจุดประสงค์ของการ “ทำงาน” และ “ความรัก” มันเป็นคนละเรื่องเดียวกันไม่ใช่เหรอ? ถ้ามันเป็นเรื่องเดียวกันจริงๆ เราควรจะแต่งงานกับออฟฟิศแห่งนี้ แทนที่คนที่เราคิดจะใช้ชีวิตข้างๆกัน

“เอาตัวอย่างไปดูซะ มีคนอีกมากมายทำในสิ่งที่เขารัก
แถมยังประสบความสำเร็จ แต่ว่ามันต้องใช้เวลานานหน่อยแค่นั้นเอง”

ความคิดดีส่งพลังเฮือกสุดท้ายยกตัวอย่างคนมากมายบนโลกนี้ที่ทำแล้วประสบความสำเร็จให้เราดู มันช่างเป็นโชคดีเหลือเกินที่ “ตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน” ทำให้ความคิดร้ายๆในจิตใจสงบลงไปได้ในช่วงเวลาหนึ่ง

เอาล่ะ… มันคงถึงเวลาที่เราจะกลับไปทำงานต่อแล้ว หลังจากที่เติมพลังใจด้านบวกเข้าไป พ่วงด้วยกำลังใจที่สร้างขึ้นมาจากเหตุและผลของเรา สู้โว้ย เพื่อความฝัน เพื่อสิ่งที่เรารัก และเพื่อชีวิตที่ดีกว่า จงทำงานมันต่อไป

ถ้าหางานใหม่ไม่ได้ ไม่ควรลาออกนะ
ผมตอบน้องเขาไปสั้นๆ
เพื่อเตือนสติถึงภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

มีคำพูดยาวๆประโยคหนึ่งที่ผมจำขึ้นใจและใช้เตือนสติทุกครั้งในการทำงาน นั่นคือ “ต่อให้ความคิดของเราดีแค่ไหน ต่อให้ความมั่นใจของเรามากขึ้นเท่าไร และต่อให้เรามั่นใจการทำงานหนักแค่ไหน สิ่งที่เราควรเตือนตัวเองก็คือ เราคิดถูกต้องหรือเปล่า? เพราะองศาเล็กๆที่ผิด ก็ทำให้ชีวิตของเราเดินไปคนละทิศละทางแล้ว”

ดังนั้นมันไม่สำคัญหรอกว่า เราจะคิดดี คิดลบ คิดร้าย คิดเลว ชอบทำงานหนัก ชอบทำงานสบาย รักในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่รัก หรืออีกสารพัดถ้อยคำคมที่เราเพาะบ่มขึ้นมาด้วยประสบการณ์ของตัวเองและคนอื่น

ตัวอย่างที่เราเห็น คนอื่นที่เขาเป็น ทุกความสำเร็จย่อมมีเรื่องราวหนักหนาที่ผ่านมา แต่ผู้พ่ายแพ้และล้มเหลวเจียนตายทั้งหลาย พวกเขาคล้ายไม่มีโอกาสเล่าเรื่องเหล่านั้นให้เราฟัง

…คงเป็นเพราะมันไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีสักเท่าไร

15078813_10154079242453450_7793868539889053155_n

-004 : เมื่อเราเติบโตขึ้น เรากลับพบว่าชีวิตมันไม่ได้ “อร่อย” เหมือนเคย

 

เมื่อเราเติบโตขึ้น

เรื่องที่รับรู้มันไม่ได้มีแต่อร่อยเหมือนเคย

ทำให้รู้สึกว่าแต่ก่อนเรานี่เป็นอีป้าโลกสวยในกะลาจริงๆ

แต่ก่อนเชื่อว่าชีวิตแม่มคอนโทรลได้สิ คนที่ยังคอนโทรลไม่ได้

 

อาจเป็นเพราะยังไม่เข้าใจตัวเอง ยังไม่เข้าถึงอะไรแบบนี้

ผมนั่งอ่าน Status ที่ว่านี้ในเพจๆหนึ่ง แล้วย้อนนึกถึงตัวเองในวันเก่าๆ กับประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตถึงระดับที่เรียกได้ว่าเข้าสู่วัยกลางคน สังเกตได้จากเส้นผมดำที่ลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ จนทำให้เราต้องคอยปกปิดความขาวด้วยสารเคมีที่ผ่านการคัดสรรว่ามาจากธรรมชาติ

 

ก่อนที่จะกลายเป็นโฆษณายาย้อมผมไปมากกว่านี้ คำถามที่มีอยู่ในใจก็เริ่มปรากฎชัดเจนขึ้นว่า ยิ่งเราเติบโตขึ้น สิ่งที่เราคิดนั้นควรเปลี่ยนแปลงไป หรือ ยังยึดมั่นอยู่กับมันเหมือนอย่างเดิม ถ้าให้ตอบแบบสวยงามตามเนื้อผ้าก็ควรจะมีทั้งสองอย่าง คือ สิ่งที่ดีควรจะยึดถือไว้ และ สิ่งที่ไม่ดีก็ควรจะเปลี่ยนแปลงไป

 

แต่หากตอบโดยมองโลกจากมุมมองของตัวผมเอง ผมเชื่อว่าทุกสิ่งที่เราคิดนั้นต้องเปลี่ยนแปลงไปเสมอ แต่เหตุผลที่บางความคิดยังไม่ถูกเปลี่ยนไปนั้น มันคงเป็นเพราะยังไม่มีสถานการณ์มากระทบให้เราต้อง “เปลี่ยน” มากกว่า

 

ลองจินตนาการเล่นๆขึ้นมาว่า ถ้าหากคุณเป็นคนที่ยึดมั่นในความดี แต่ถูกรังแกด้วยความชั่วช้าที่ถาโถมเข้ามาเรื่อยๆในชีวิต วันหนึ่งคุณอาจจะเป็นคนที่เปลี่ยนแปลงกลายเป็นคนที่ไม่ศรัทธาความดีอีกต่อไป หรือต่อให้คุณกล้าบอกว่า คุณยังศรัทธาความดีอยู่ก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วสายตาที่คุณมองโลกนั้นก็จะไม่เหมือนเดิมอยู่นั่นแหละ นี่คือเหตุผลที่ผมให้คำตอบกับตัวเองว่า ทุกความคิดนั้นมีสิทธิ์เปลี่ยน

 

คำถามต่อมาหลังจากคำตอบว่า “ทุกคนทุกสิ่งล้วนต้องเปลี่ยนแปลง” คือ การเปลี่ยนแปลงที่ว่าอยู่ในระดับไหน ระหว่าง “ปัจจัยภายนอกที่มาตกกระทบให้ภายในเปลี่ยน” หรือ “ปัจจัยภายในเปลี่ยนเพราะอยากจะเปลี่ยนให้สิ่งที่อยู่ข้างในนั้นดีขึ้นกว่าเดิม” กันแน่

 

และต่อให้ “ประสบการณ์เปลี่ยนเราแค่ไหน แต่สุดท้ายเราต้องเปลี่ยนตัวเอง” คำพูดคมๆคุ้นๆ ที่เคยบอกผมว่า ถึงแม้สภาพแวดล้อมหรือประสบการณ์ที่ว่านั้น มันคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตัวเราจากภายนอกและมันอยู่ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะสภาวการณ์ต่างๆล้วนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ตะกอนความคิดจากภายในที่ถูกสร้างขึ้นมาจากตัวเราเองนี่แหละ จะทำให้เราเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

 

ลองจินตนาการต่อไปว่า ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่เจอคนโกงมาเยอะมากๆ มันย่อมไม่แปลกที่คุณจะไม่ไว้ใจใคร (จากประสบการณ์) แต่ไม่ได้แปลว่าคุณต้องไม่ศรัทธาในความดี หรือยึดถือว่าสายตาที่คุณมองโลกนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง (จากสิ่งที่อยู่ภายใน) และในขณะเดียวกัน ถ้าคุณเจอแต่คนดีมาโดยตลอด ก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะสามารถไว้ใจใครได้ 100% จากโลกที่เราเจอ

 

“อย่าคิดว่าชีวิตมันจะนิ่ง ถ้าอายุมึงยังไม่ถึง 40”

 

คำพูดสั้นๆที่ผมจำขึ้นใจจากปากของพี่ที่เคารพ อาจเป็นหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านในช่วงวัยกลางคนกลับกลายเป็นการพยายามทำความเข้าใจโลก มากกว่าความพยายามที่จะสร้างโลกที่เราเข้าใจเหมือนอย่างในวัยก่อนหน้านี้

 

ในวันที่เราอายุ 20-30 โลกที่เราแบกไว้ดูเหมือนยิ่งใหญ่ เราเห็นใครหลายคนที่ประสบความสำเร็จจาก “ต้นทุน” ที่มีมาไม่เท่ากัน และ “ความสามารถ” ที่แตกต่างสร้างสรรค์จากธรรมชาติกอปรกับความพยายามที่จะสร้างมันขึ้นมาด้วยไฟของหนุ่มสาว

 

แต่เมื่อเวลาผ่านไป หากมีโอกาสได้ย้อนมองดูตัวเองในสิ่งที่ผ่านมา และมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงที่หนักหนาในวัยที่เกินกว่า 30 ปี การเสื่อมถอยของคนรุ่นก่อน ภาระความรับผิดชอบที่อาจจะไม่ใช่ขึ้นอยู่กับเราเพียงคนเดียว ผูกพันลดเลี้ยวไปจนถึงความคงที่บางอย่างที่ “นิ่ง” จนอาจกลายเป็นหลุมพรางในการใช้ชีวิต ทำให้เริ่มรู้สึกสัมผัสถึงความซับซ้อนของการเป็นมนุษย์ และมันก็ทำให้สะทกสะท้อนใจไม่ใช่น้อยว่า

 

ไอ้ชีวิตที่เราคิดว่าเราเข้าใจนั้น…

จริงๆเราไม่ได้เข้าใจมัน .. แม้แต่นิดเดียว :)

 

 

-010 : เพราะมีอะไรให้เรียนรู้อีกมากมาย การเลือกเลยกลายเป็นสิ่งสำคัญ

– บัญชีของคุณถูกระงับการใช้งาน –

 

เช้าตรู่วันเสาร์ ผมได้รับข้อความนี้หลังจากกดปุ่มสีน้ำเงินเข้มในหน้าจอ Smartphone เพื่อเข้าสู่โลกออนไลน์อย่าง Facebook ก่อนที่จะพบว่าบัญชีถูกระงับการใช้งานและต้องถูก “ตรวจสอบความมีตัวตน” ของตัวเอง

 

เชี่ยยยยยยยย… กูไม่น่าอุตริไปเปลี่ยนชื่อโปรไฟล์ส่วนตัวเลย!! ผมอุทานในใจเมื่อคิดถึงสาเหตุที่ทำให้ถูกระงับการใช้งาน เนื่องจากความสนุกสนานเพียงชั่วครู่ ลองไปเปลี่ยนชี่อโปรไฟล์ของตัวเอง จากชื่อจริงภาษาอังกฤษ Thanom Ketem ให้กลายเป็น “พรี่หนอม” พยางค์เดียวสั้นๆแบบไม่มีนามสกุล (ใครอยากลองเปลี่ยน อ่านได้ที่ “วิธีเปลี่ยนชื่อเฟสบุค ไม่มีนามสกุล ด้วย Google chrome” )

 

เมื่อบัญชีถูกระงับการใช้งาน นั่นย่อมแปลว่าผมไม่สามารถจะเสือก เอ้ย เสพเรื่องราวและข่าวสารของชาวบ้านไปโดยปริยาย จะติดต่อใครผ่านโปรแกรม Chat ก็ไม่ได้ และที่สำคัญเพจที่ใช้ทำงานก็ไม่สามารถโพสได้ เหมือนถูกบังคับกลายๆให้หยุดใช้งานทั้งระบบ!

 

แต่ก็ดีเหมือนกันนะ.. จะได้เลิกติด Social ไปสักพัก #เสียงหล่อข้างในจิตใจของผมร้องทัก ระหว่างที่อัพรูปบัตรประชาชนส่งไปในระบบเพื่อยืนยันตัวตนกับทาง Facebook ให้บัญชีกลับมาใช้การได้อีกครั้งหนึ่ง

 

แหม่… ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า โลกที่ไม่มี Facebook นั้นช่างเงียบสงบ เพราะในวันนั้นทั้งวัน ผมไม่ได้พูดคุย (Chat) กับใครสักเท่าไร แถมปกติผมใช้ Facebook Messenger เป็นหลักมากกว่า Line ที่มักจะไว้อ่านเงียบๆ หรือนานๆเข้าไปดูที (ใครที่เคยคุย Line กับผมคงเข้าใจ เมื่อวันก่อนเพิ่งได้อ่านข้อความ Happy Birthday จากน้องคนหนึ่งที่ส่งมาตั้งแต่ปีที่แล้ว – -“)

 

ไม่น่าเชื่อเหมือนกันครับว่า … เมื่อไม่มี Facebook แล้วงานทั้งหมดก็เหมือนจะเสร็จรวดเร็วขึ้น อย่างที่บอกแหละครับว่า เมื่อไม่มีอะไรให้เข้าไป “เสพ” มันก็เลยทำให้ผมมีเวลา Focus กับการทำงานของตัวเองมากขึ้น งานที่คั่งค้างเหมือนกลางอาทิตย์ก็เสร็จสนิทในวันเสาร์เป็นที่เรียบร้อย – -”

– เมื่อถึงเวลาสำคัญ เราจะรู้ว่าอะไรมันจำเป็น –

 

สิ่งที่ต้องทำ สิ่งที่ควรทำ สิ่งที่เราทำ สามอย่างนี้คือสิ่งที่แตกต่างกัน เรารู้ว่าเราต้องออกกำลังกาย แต่ด้วยภาระงานทีต้องทำ กลับทำให้เราเลือกที่จะเสียเวลาโดยการนั่งอยู่เฉยๆ – ผมเชื่อว่าใครหลายคนเคยเป็นแบบนี้ ซึ่งมันฟังดูแล้วก็พิลึกดีเหมือนกันนะที่เรามักจะเลือกทำในสิ่งที่ไม่ควรทำและลืมสิ่งที่ต้องทำไปซะงั้นแหละ

 

เมื่อไม่ได้มองดูการเคลื่อนไหวของโลกภายนอกที่เร่งรีบ (ผ่านโลกออนไลน์) ผมรู้สึกคล้ายโลกออฟไลน์ของตัวเองหมุนช้าลง หนึ่งเรื่องที่เห็นคืองานที่เสร็จแบบรวดเร็วโดยที่ไม่ได้ตั้งใจอย่างที่ว่าไป สอง คือ เราได้นั่งมองและพูดคุยกับคนรอบตัวมากยิ่งขึ้น และสาม ผมเพิ่งรู้ว่า Facebook แม่งมีความสำคัญกับชีวิตเราขนาดนี้

 

เมื่อเราถูกจำกัดอะไรบางอย่างที่คุ้นเคยไป

เราอาจจะเข้าใจขึ้นมาว่าอะไรมันจำเป็นกับเราจริงๆ

 

น่าแปลกเหมือนกันที่ผมรู้ทั้งรู้ว่าตัวเองถูก Facebook ระงับการใช้งาน แต่ทุกครั้งที่ผมหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา ผมก็ยังคงกดปุ่ม Logo ตัว F สีน้ำเงินรัวๆ เพื่อให้มันเข้าสู่ Application เดิมๆ เหมือนย้ำตัวเองว่าไม่สามารถเข้าสู่โลกนี้ได้อีกแล้ว

 

ถ้าหากบัญชีถูกระงับตลอดไป กูจะทำยังไงวะ? ความคิดนี้แล่นแปล็บบบพุ่งขึ้นมาในหัว หลังจากที่ผมลืมตัวจะเข้าไปกด Like เพจของนักเขียนฝรั่งท่านหนึ่งหลังจากที่อ่านหนังสือแปลของเขาจบ ชิบหายละ!! ถ้ากูโดนบล็อกขึ้นมาจริงๆ เพจของกู ช่องทางของกู และอื่นๆที่กูต้องใช้งานในโลกนั้น มันก็ต้องหายไปหมดสิวะ #ตัวกูของกู

 

นั่งคิดไปคิดมาระหว่างที่บรรจงพิมพ์ตัวอักษรลงคอมพิวเตอร์ สิ่งที่จำเป็นจริงๆกับเราในการใช้งานโลกออนไลน์ มันคือ ความพอดี ไม่ใช่แค่ “มี” หรือ “ไม่มี” แต่มันต้อง “มี” ในเวลาที่ใช้ และ”ไม่มี” ในเวลาที่ไม่จำเป็น ซึ่งเรานี่แหละที่ต้องเป็นคนมองเห็นมันด้วยตัวเอง

 

ภาวะข้อมูลท่วมท้น (Information Overload) คือ การที่เราตัดสินใจยากขึ้นเนื่องจากข้อมูลที่มีมากเกินไป จนทำให้เกิดความยุ่งยากและหลุดประเด็นไปโดยไม่รู้ตัว นี่คือนิยามของประโยคนี้ แต่ผมมักจะเรียกภาวะนี้ที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่า Over information (ซึ่งน่าจะไม่ถูกไวยากรณ์สักเท่าไร – -“) และในหลายๆครั้งมันทำให้เราเหนื่อยจนไม่อยากรับรู้อะไร เพราะสมองถูกใช้ในการเสพเรื่องที่ไม่จำเป็นจนหมดแรง

 

ในโลกที่ “ง่าย” ขึ้น เราจะเห็นคนหลายๆคนมีช่องทางขับเคลื่อนให้ตัวเองเติบโตมากมาย เป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เป็นกูรูมีความรู้ชื่อเสียง สร้างโอกาสต่างๆผ่านช่องทางที่เรียกว่า “เทคโนโลยี”

 

แต่ในขณะเดียวกัน เราก็เห็นคนที่แพ้และท้อแท้จากการ “ปรับตัว” แบบไม่ทันกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนในทุกวันนี้ จนกลายเป็นว่าใครหลายคนกลายเป็นผู้ทำลายโอกาสในชีวิตของตัวเองด้วยตัวเอง

 

สำหรับผมแล้ว … ยิ่งเราเรียนรู้มากขึ้นเท่าไร ยิ่งเราเห็นอะไรมากขึ้น “โอกาส” นั้นจะผุดขึ้นมาราวกับเห็ดที่ขึ้นในป่าฝน แต่หน้าที่จริงๆของคนที่เห็นโอกาสนั้น คือ “การเลือก” โอกาสที่เหมาะสมและถูกต้องกับตัวเรา ซึ่งความสามารถในการเลือกนี่แหละ มันต้องใช้ประสบการณ์ ความสามารถ สัญชาติญาณ ที่แตกต่างกัน

 

เย็นวันเสาร์ มีอีเมลล์จากระบบเฟสบุ๊คส่งมาบอกว่า “บัญชีของคุณสามารถใช้งานได้ตามปกติ” ผม Log-in เข้าไปดูอย่างมีความสุข ราวกับคนที่เดินทางกลางทะเลทรายที่มองเห็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่อยู่ตรงหน้า

 

แต่สิ่งที่น่าแปลกก็คือ.. หลังจากที่นั่งเสพเรื่องชาวบ้านไปได้สักพัก

ผมกลับไม่ได้รู้สึกว่ามันสำคัญกับชีวิตผมเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป

 

… หรือผมกำลังเลือกอะไรบางอย่างให้กับตัวเองโดยที่ไม่รู้ตัว ?

 

-016 : 1 ปีที่ผ่านมา… กับบทสัมภาษณ์ที่ไม่เคยมีใครได้อ่าน

 

บทสัมภาษณ์นี้เป็นบทสัมภาษณ์ที่ผมถูกถามไว้เมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ผมเอากลับมาเรียบเรียงใหม่ด้วยตัวเองอีกครั้งและลงเป็นที่ระลึกไว้ในที่นี้ เพราะบทสัมภาษณ์ฉบับนี้คงไม่ได้ถูกตีพิมพ์อีกแล้วครับ

Q : แนะนำตัวหน่อยครับว่าพี่เป็นใครมาจากไหน ?

 

สวัสดีครับ พี่ชื่อ “หนอม” ครับ ถนอม เกตุเอม เจ้าของเพจ TAXBugnoms เป็นบล็อกเกอร์ด้านภาษีและการเงิน วิทยากร นักเขียน อาจารย์พิเศษ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต แล้วก็เป็นข้าราชการในหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งครับ

 

จบการศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทด้านบัญชีครับ แล้วประกาศนียบัตรด้านภาษีอากร ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา เคยทำงานเป็นผู้ช่วยผู้สอบบัญชีอยู่ที่สำนักงานสอบบัญชีแห่งหนึ่งครับ  แล้วก็เคยทำธุรกิจบ้าๆบอๆมากมายตั้งแต่ขายตรงไปจนถึงทำเว็ปไซต์ครับ

Q : พี่มาเริ่มทำเพจ Taxbugnoms ได้ยังไงครับ

 

มันเริ่มมาจากตอนที่ตัวเองลาออกจากงานด้านสอบบัญชี มาเป็นข้าราชการ ตอนนั้นก็รับทำงานหลายแบบ ทั้งพวกพวกโปรโมทเวปไซด์ รับทำปรับแต่งข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ติดอันดับกูเกิ้ล (SEO) ทำพวก Affiliate ต่างๆ แล้วก็ได้มีโอกาสมาเรียนปริญญาโทด้านบัญชีที่จุฬา โดยมีวิชาหนึ่งชื่อว่า “บัญชีภาษีอากร” ทีนี้ที่เรียนปริญญาโทอยู่มันจะมีเพื่อนๆแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ ช่วยกันถอดเทปออกมาเป็นชีทไว้อ่านสอบ ช่วยๆกันสรุปข้อมูลอะไรแบบนี้

 

ตอนนั้นเราก็ทำงานที่เกี่ยวกับด้านภาษีอยู่แล้ว เราก็เห็นว่าเรามีข้อมูลตรงนี้ เราทำเวปไซต์เป็นด้วย และตอนนั้นมันยังไม่มีใครทำเรื่องพวกนี้เลย เราก็สงสัยว่า เออ… แล้วทำไมไม่มีใครพูดเรื่องภาษีง่ายๆวะ เพื่อนๆ หรือคนรู้จัก เวลามีปัญหาภาษีอะไรก็มักจะโทรมาถามตลอด ตอนนั้นรู้ตัวเองนะว่าไม่ได้เก่งเรื่องภาษีมากหรอก แต่ว่าโอเคเรียกว่าพอรู้เรื่อง พอมีความเข้าใจในระดับนึง

 

ทีนี้.. พอได้โอกาสลงมือทำ มันก็เหมือนกันเอาความรู้มาพัฒนาตนเอง เลยทำ Blog ชื่อว่า “บล็อกภาษีข้างถนน” (tax.bugnoms.com) ข้อมูลในการทำเวปไซด์ตอนแรกก็เอามาจากไฟล์ที่เพื่อนๆถอดเทปมานี่แหละ เอามาเขียนใหม่ให้มันเป็นภาษาตัวเอง ตอนแรกก็ยังเป็นภาษาทางการอยู่แหละ

 

แรกๆที่ทำบล็อกเนี่ย ไม่มีคนดูเลย คนเข้ามาวันละ 10 – 20 คนเองมั้ง ผ่านไปประมาณ 2 ปี เราก็เริ่มมาทำ Facebook Fanpage ขึ้นมาในชื่อ TAXBugnoms นี่แหละ ตอนนั้นได้ทางเพจ Thailand Investment Forum มาช่วยแนะนำ ซึ่งมันก็เกิดจากความหน้าด้านของเราเองนี่แหละ เราส่งข้อความไปทาง Message แนะนำตัวกับทางพี่เค้าว่า ”ผมกำลังทำเพจชื่อนี้อยู่ครับ มีรายละเอียดยังงี้ๆๆๆ ถ้าสนใจและคิดว่าดี ผมอยากให้พี่แนะนำให้หน่อยครับ (คือหน้าด้านมากเลยกูเนี่ย)”

 

หลังจากนั้นพี่เค้าก็ตอบกลับมา และช่วยแนะนำให้ ตอนนั้นจำได้ว่ามีคนกด Like เพจอยู่ประมาณ 800 คนได้ พอพี่เค้าแนะนำเพจให้ก็ขึ้นมา 2,000 กว่า ๆ เรานี่แบบโคตรดีใจชิบหายเลย คิดว่าสุดยอดแล้วนี่ชีวิตกู ประสบความสำเร็จมากๆแล้วในตอนนั้น (หัวเราะ)

 

ทีนี้พอเริ่มมีคนรู้จักเพิ่มขึ้น มีคนช่วยแนะนำเพจเพิ่มขึ้น อย่างจ่าพิชิต Drama-Addict ก็เคยช่วยเหลือ มันก็เลยมีคนเข้ามาถามคำถามบ่อยขึ้น จนรู้แล้วว่าอ้อมันมีแนวทางหรือเรื่องที่อยากรู้แบบไหน เราก็เขียนบล็อกเพิ่มใส่สไตล์ของตัวเองเข้าไปมากขึ้น

 

ประกอบกับ ช่วงนั้นก็เริ่มมาสนใจด้านการลงทุนพอดี (ประมาณ 3-4 ปีก่อน) คือ เริ่มลงทุนมาได้สักพักก็เลยแชร์ประสบการณ์ความรู้ด้านการลงทุนของตัวเองแบบผิดๆถูกๆ หมายถึงเรื่องที่เราผิดพลาด หรือเรื่องที่เราทำได้ เพราะเรามองตัวเองเสมอว่าเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน เราเป็นเหมือนกับชาวบ้านที่คิดลงทุนเหมือนๆกันแต่แค่มาแชร์ประสบการณ์ให้คนมีความสนใจมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราก็ใช้เงินแบบว่าแย่มาก

 

Q : เล่าเรื่องนี้ให้ฟังหน่อยครับ ที่บอกว่าใช้เงินแย่มาก

 

คือตอนแรกทำงานเอกชนได้เงินเดือนสูงสุดตอนนั้นประมาณ 3-4 หมื่นบาท และให้ที่บ้านประมาณ 2 หมื่นบาท ส่วนเงินที่เหลือทั้งโอที ค่าจ็อบอะไรพวกนี้เราเอามาใช้หมดเลย ตอนนั้นแฮปปี้สุดๆ เราคิดว่าโคตรรวยเลย เรียกได้ว่า อะไรที่อยากได้ เราซื้อหมดเลย โคตรเปลืองเลยครับ

 

เรื่องกินก็เหมือนกันต้องกินหรู กินข้างถนนไม่ได้ มันร้อนต้องเข้าห้าง ตอนนั้นเราทำงานแถวๆย่านกลางเมือง เราก็กินทุกวันแหละ ของดี สิ้นเดือนก็หมดตัว แต่ว่าไม่รู้สึกอะไร แต่พอเวลาผ่านไปเราก็เริ่มมองเห็นว่า เฮ้ย แล้วทำไมคนอื่นมีเงินทำไมเราไม่มีเงิน (อ้อ..เพราะเค้าเก็บเงินไง)

 

เราก็เริ่มมาบริการจัดการชีวิตใหม่ เริ่มบริหารเงิน จัดการชีวิตตัวเองให้ดีขึ้นตามความสามารถ ยิ่งพอย้ายมาทำราชการ เงินเดือนละฮวบเหลือไม่ถึงหมื่น มันยิ่งตอกย้ำว่า เฮ้ย …เราต้องรับผิดชอบตัวเองได้แล้ว

 

Q : แล้วแบบนี้พี่ไม่ลำบากหรอครับ ?

 

มันถือว่าเป็นเรื่องโชคดีอยู่อย่างหนึ่งที่ว่า ต้นทุนทางบ้านของเราโอเค มีฐานะในระดับหนึ่งไม่ได้ลำบากที่เราต้องไปช่วยเหลือ ขอแค่อย่างนึงที่เราเตือนตัวเองเสมอก็คือ อย่าไปทำให้เค้าต้องลำบากเพราะเรา ดังนั้นเราก็ควรรับผิดชอบตัวเองบ้าง อย่าสปอยตัวเอง ถ้าเค้าถามว่ามีเงินไหม เราก็บอกมีเงิน ถีงไม่มีเงินเราก็บอกว่ามี พยายามหาเงิน หารายได้อื่น จัดการชีวิตตัวเองไม่ให้ต้องพี่งใคร แล้วก็จะได้กลับไปดูแลเขาได้บ้าง จำได้ว่าตอนนั้นก็ไม่ซื้ออะไรเลย ข้าวเช้ากินบ้านข้าวเย็นก็กินบ้าน

 

หลังจากทำราชการชีวิตก็เปลี่ยนเลย แต่ก่อนไอ้ที่กินนู่นนั่นนี่ไม่ได้ กระแดะคิดว่าตัวเองเป็นคนเจ๋ง คนคูล พอไปอยู่อีกสังคมหนึ่ง เราสำนึกเลยว่า เฮ้ย … บางอารมณ์เงินแม่มไม่ใช่คำตอบ บางคนเขามีความสุขมากกว่าคนมีเงินเยอะๆเสียอีก เราเลยนึกได้ว่า โอเค.. เงินมันไม่ได้สำคัญกับชีวิตมาก ถ้าหากเราบริหารจัดการเงินเป็น สุดท้ายมันก็ค่อยๆเปลี่ยนตัวเรามาให้จัดการชีวิตตัวเอง เริ่มมาทำงานเขียน หาความรู้ ทำเพจอย่างที่เล่าไป … จนมาถึงทุกวันนี้

Q : ตอนนี้พี่ทำเพจมาประมาณ 5 ปีแล้วพี่ได้อะไรบ้าง ?

 

อย่างแรกที่แน่ๆ คือความรู้เพิ่มขึ้น อย่างที่บอกว่า แต่ก่อนตัวเองก็อาจจะพอรู้เรื่องของภาษีแต่มันก็เป็นในระดับของคนที่เรียนทฤษฏีมา แต่พอมาทำเพจด้านนี้ เราจะได้ความคิด มีคนมาแชร์ ได้เปิดกะโหลกมากขึ้น

 

อย่างที่สองคือ ได้รู้จักคนมากขึ้น ซึ่งมันเป็นอะไรที่ตลกมาก ต้องเล่าก่อนว่าเมื่อก่อนเป็นคนที่แบบอินดี้มาก คือไม่ชอบรู้จักคน ไม่อยากรู้จักใคร ไม่ชอบเจอคน ไม่ชอบคุยกับใคร ไม่ชอบไปทำความรู้จักคน เรื่องเยอะมากกกกก แต่พอมาทำเพจ ทำให้เราต้องรู้จักคน และการรู้จักมันทำให้มีโอกาสเข้ามา จำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งมีคนเรียกไปพูด ตื่นเต้นมาก เมื่อก่อนเป็นคนที่พูดไม่เป็นเลย อายมาก เป็นพวกเล่นมุขขำๆอยู่ในหมู่เพื่อนฝูง แต่พอออกไปข้างนอกก็จะเงียบๆกลัวๆ

 

ทีนี้มีคนจ้างไปพูด ครั้งนั้นมันเลยเปลี่ยนชีวิตเราเลย คือไอ้ความกลัว ความไม่ชอบมีนะ มีเยอะด้วย แต่คิดอย่างเดียวว่า ถ้าหากวันนี้ไม่กล้าเริ่มออกไปซักครั้ง เราก็คงไม่ได้ก้าวอีกแล้ว ก็เลยตัดสิน เอาวะ!! ไปก็ไป

 

ถามว่าดีไหม เราเชื่อว่า มันดีที่สุดแล้วนะ ณ ตอนนั้น กลับมานั่งถามตัวเองว่า เฮ้ย กูพูดได้ขนาดนี้เลยเหรอวะ แถมแม่งยังได้เงินมาด้วย มันก็เริ่มเปลี่ยนทัศนคติตัวเองไป

Q : พี่มองตัวเองในอีก 2-3 ปีข้างหน้ายังไงบ้างครับ

 

คร่าวๆที่วางไว้ คงจะต้องเชี่ยวชาญภาษีมากขึ้นนะ คือ พอปีนี้ (2015) มาได้ร่วมงานกับ Aommoney เราก็จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ Aommoney จะเป็นความรู้สำหรับคนที่เป็นมือใหม่ถึงระดับกลางในเรื่องของภาษี แต่บล็อกที่เราเขียนอยู่เดิม จะทำให้มันเป็นเรื่องที่ยากขึ้น มีการวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดทางด้านภาษีให้ชัดเจนมากขึ้น

 

ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็คงเหมือนเดิมนะ เราว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่หาอะไรเพิ่มในวันนี้ แต่เป็นการเหลาอาวุธที่เรามีให้มั่นคงจะดีกว่า ถ้าอาวุธที่เรามีมันดีพอ มันจะช่วยต่อยอดให้เราเก่งขึ้น และมันจะพาไปสู่ด้านอื่นเอง

Q : พรี่หนอมคิดว่า เราควรคิดถึงคนอื่นตอนไหนครับ หมายถึงในแง่การช่วยหรือให้ความรู้คน คนที่จะสอนคนอื่นได้ จำเป็นต้องสำเร็จมาก่อนแล้วหรือเปล่า

 

มันมี 2 มุมมองนะ มุมแรก.. คนเราจะคิดถึงคนอื่นตอนที่ตัวเองมีพร้อม กับอีกมุม คือ คนเราคิดถึงคนอื่นตอนที่เราอยู่ระหว่างทางเดิน แต่ว่าคุณก็ไม่รู้หรอกว่าจุดไหนคุณจะพร้อม ดังนั้นจุดที่คุณควรจะเริ่มคิดได้คือจุดที่คุณไม่ได้ลำบากเกินไปที่จะช่วยคน และก็มีเวลาพอที่จะช่วยเหลือเขา

 

เหมือนเราไปทำบุญที่วัดเราอาจจะทำ 20 บาทก็ได้ นั้นก็คือจุดที่เริ่มคิดถึงคนอื่น คุณไม่ต้องรอให้มีแบบ 100 ล้าน ผมทำจะ 2 แสน แบบนี้มันเสียเวลาไง

Q : สิ่งที่ดีที่สุดในความเป็นพรี่หนอม คืออะไร?

 

เป็นคำถามที่ดีนะ ชอบมากเลย พี่ว่ามันคือการปรับตัวนะ คือ ทุกวันนี้กูอยู่กับใครก็ได้ ถึงแม้มันจะแบบมีไม่ชอบบ้าง ทรมานบ้าง แต่การที่เราปรับตัวยอมรับเพื่ออยู่กับคนอื่นและตัวเองได้ มันเป็นอะไรที่เรารู้สึกว่ามันดี .. อย่างน้อยมันดีสำหรับเราเองแหละ

Q : จากที่รู้จักพี่มา ผมมั่นใจว่าพรี่หนอมน่าจะได้ค้นพบและทำความรู้จักกับดาร์คไซค์ของตัวเองแล้ว มีวิธีการจัดการ การควบคุมมันยังไง

 

เรื่องนี้ไม่ต้องคิดอะไรมากนะ คิดแค่ว่าแบบคุณไม่ชอบให้ใครทำอะไรกับคุณ คุณก็อย่าไปทำอะไรกับเค้า คือการที่เราอยากทำเหี้ย เราหงุดหงิด อยากด่าคน อยากโวยวาย แต่คิดกลับกัน เค้าหงุดหงิดแต่เค้าควบคุมอารมณ์ที่จะไม่ด่าเราได้เราก็แฮปปี้ ดังนั้นเราตั้งตัวเองไว้เลยว่า เราไม่ชอบอะไร เราอย่าไปทำกับคนอื่น อันนี้มันเป็นกฎเหล็ก

 

ถ้าเราไม่ชอบอะไรซักอย่างแล้วเราไปทำเอง แปลว่าคุณยังควบคุมตัวเองไม่ได้ คุณก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปบอกว่าไม่ชอบ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราไม่มีหลุดนะ ในฐานะที่เป็นมนุษย์ เรามีหลุดเสมอแหละ แต่สิ่งที่เราทำได้คือเรียนรู้แล้วก็ปรับตัวให้มันดีขึ้นจริงๆ

Q : สิ่งที่เป็นเเรงผลักดัน ที่ทำให้พรี่หนอมสามารถให้ความรู้ผ่านทางบล็อกภาษีข้างถนนแบบต่อเนื่องมาตลอดเวลานานแสนนานแบบนี้คืออะไร ผมมองว่ามันยากนะ ที่จะทำแบบสม่ำเสมอ ในยุคแรกๆที่บล็อก หรือเพจให้ความรู้ ยังไม่เป็นที่สนใจขนาดนี้

 

การทำอะไรซักอย่าง มันต้องมองว่าเราได้อะไรนะ พูดอีกอย่าง เวลาเราทำอะไรซักอย่าง ต้องมองว่าคุณได้อะไรจากการทำยังงั้น

 

อย่างน้อยพี่ได้ทบทวนและสร้างเสริมความรู้ตัวเอง พี่ได้รู้ทางตัวเองว่าอยากจะเป็นคนที่รู้จริงด้านภาษี รู้เป้าหมายตัวเอง ทีนี้ก็กลับไปคำถามเมื่อกี้ที่บอกว่า ทำไมต้องให้คนอื่น ทั้งๆตอนนี้ก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองพร้อม ตัวเองเก่งภาษี แต่ถ้ามีความรู้ที่ถ่ายทอดได้ เราให้เค้าไป มันก็เป็นระหว่างทางที่เราเดิน เราได้ประโยชน์ ได้ทบทวน คนอื่นก็ได้ประโยชน์ ได้ความรู้เพิ่มในสิ่งที่เราเขียนได้ มันก็ Win-Win ทุกคนนะ

 

ถามว่าอะไรผลักดันมาตลอดหลายๆปี ถ้าจะมีสิ่งผลักดันได้ก็น่าจะเป็น การที่ใครสักคนเห็นประโยชน์ของงานเรา อาจจะเป็นข้อความขอบคุณง่ายๆ กำลังใจเล็กน้อยๆจากอีเมลล์ ทำงานแล้วได้เงินบ้าง ได้รู้จักได้อนาคตต่างๆบ้าง มันก็ไม่ทำให้เราหยุดเขียนได้หรอก คือมันเป็นไปไม่ได้หรอกว่าเราอยู่ด้วยการถึกควายโบ้ทำอะไรนานๆต่อกัน แต่ว่าถ้าในจุดที่เราท้อแล้วมีอะไรมาแบบดันขึ้นมา สิ่งนี้มันจะทำให้เราลุกขึ้นได้ง่ายขึ้น

Q : Mindset สำคัญ ที่คนเป็นต้นแบบ หรือกูรู จำเป็นต้องมี

 

(อันนี้คิดมานานมาก) สิ่งที่กูรูทุกคนต้องมีคือ ความซื่อสัตย์ ไม่ใช่ซื่อสัตย์ไม่คดโกงใครนะ ซื่อสัตย์ในที่นี้คือในเมื่อเราเป็นคนให้ความรู้คน สิ่งไหนที่คุณไม่รู้คุณก็บอกไม่รู้ ยอมรับไปเลย มันคือความจริง

 

เรามองว่าอันนี้มันจำเป็นมากนะ เพราะถ้าคุณไม่รู้แต่เสือกบอกว่ารู้ มันไม่ใช่กูรู คุณแม่งมั่วแล้ว สิ่งที่สำคัญสำหรับผู้รู้คือรับผิดชอบในสิ่งที่เราให้ไป สิ่งที่เราเขียน สิ่งที่เราพูด และต้องรับผิดชอบให้ได้

 

เพราะมันจะมีจุดหนึ่งคือพอกูรู้เยอะๆ มันจะมี Super E-go พลังงานบางอย่างขึ้นมาว่า เฮ้ยๆๆๆ กูต้องรู้ทุกเรื่อง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ยังไง มันก็มีบางคำถามที่พี่อาจตอบไม่ได้ พี่ก็ยอมรับว่าพี่ตอบไมได้ ดังนั้น Mindset สำคัญที่สุดของกูรู นั่นคือการที่คุณไม่ได้หลอกคนอื่น และคุณก็ไม่ได้หลอกตัวคุณเอง

Q : การเป็นกูรู เป็นคนให้ความรู้ แน่นอนว่ามีหลายคนให้ความสนใจในแนวคิด การใช้ชีวิต เรื่องพวกนี้ทำให้รู้สึกกดดันบ้างไหม

 

การที่มีคนมาสนใจเรามันก็ดี เพราะมันแปลว่า งานของเราก็ได้รับความสนใจมากขึ้น ไม่รู้สึกกดดันนะ ถ้าคุณคิดง่ายๆว่า ยังไงมันก็ดีกว่าไม่มีคนมาสนใจคุณ มันจะไม่กดดันอะไรหรอกใช่ปะ คือคนชมก็รู้สึกดี คนด่ารู้สึกแย่ แต่ถ้าวันหนึ่งไม่มีคนพูดถึงคุณเลยสักคำนี้แม่มแย่สุดนะ วิธีจัดการง่ายๆ คือ คุณก็เป็นสิ่งที่คุณอยากเป็นไปดิ ถ้าเค้าไม่ชอบคุณเค้าก็เลิกตามคุณเองแหละ ไม่ต้องคาดหวังอะไรหรอกของพวกนี้ สุดท้ายมันก็หายไป

Q : คิดว่า Mindset คน กับการใช้ชีวิตเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร

 

อันนี้ขอลอกคำพูดพี่หนุ่ม Money Coach มาเลยนะ เคยคุยกับแกแล้วชอบมาก คือ คนทุกคนอยากจะรวย แต่เค้ายังไม่รู้เลยว่าต้องมีเท่าไหร่ถึงจะเรียกว่ารวย ทีนี้มีคนบางกลุ่มคิดว่าเห็นช่องว่างตรงนี้มาหากิน มันเลยกลายเป็นคนรวยเจอคนเหี้ย ก็เลยอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข และสุดท้ายคนดีก็ไม่มีแดกต่อไป เพราะมันก็ยึดมั่นในความรู้สึกดีๆ โลกมันก็เป็นอย่างนี้

 

ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต หากเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ มันก็น่าจะล่มสลาย วนไปวนมาเรื่อยๆ เดี๋ยวก็มาใหม่ แบบนี้แหละ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ควรจะเป็น Mindset จริงๆก็คือ เชื่อตัวเองนิดนึงก่อนไหม? ใครพูดอะไรมารับหมดเลย ไม่กรองเลย ทำอันนี้ดีก็ทำ อันนู้นดีก็ทำ อันนั้นดีก็ทำ สรุปทำทุกอย่างแต่ชีวิตไม่เคยดีขึ้นเลย

Q : พรี่หนอมหนีภาษีครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

 

พี่มั่นใจว่าชีวิตพี่ไม่เคยหนีภาษีนะเว้ย คือถ้าคุณคิดว่าผมหนีภาษีคุณจับผมให้ได้ก่อนนะครับ แล้วค่อยมาพูด (หัวเราะ) เอาจริงๆ โคตรเกลียดคำพูดคำหนึ่งที่ว่า “ใครๆแม่งก็โกง” คือถ้ามึงเหี้ยก็อย่าเอาคนอื่นไปร่วมหัวจมท้ายกับตัวเองด้วยเลยครับ

Q : รูปแบบภาษีในความคิดพี่ที่เหมาะกับคนไทยเป็นแบบไหน

 

เราชอบเอาเรื่องคอรัปชั่นไปผูกกับการจ่ายภาษี มันแปลกมาก เพราะสิ่งที่เราต้องดูคือการคิดอัตราภาษีเหมาะสมกับคนที่จะจ่ายหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าดูเงินที่จะจ่ายไปถูกนำไปบริหารหรือเปล่า เพราะท้ายที่สุดใครมาบริหารเราไม่รู้ สมมติคนบริหารดีไม่โกงภาษีประเทศดี แต่ถ้าอัตราไม่เหมาะสมคนใหม่มามันก็จะโกงยิ่งกว่าเดิม มันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องโกงไม่โกงไง มันเกี่ยวกับโครงสร้างและระบบภาษี เช่น เก็บภาษีกับคนจนเหมาะสมไหม ? เก็บกับคนรวยเหมาะสมไหม ไปโฟกัสตรงนั้น ไม่ใช่เก็บเท่าไหร่ก็ได้ ขอให้ทำประโยชน์ให้ประเทศ

 

หรืออีกคำพูดคือ ไม่อยากจ่าย จ่ายไปก็โกง มันตลกมาก มันตบหน้าตัวคุณเองว่าคุณก็โกงกฏหมาย เหมือนคุณด่าตำรวจ แต่ตำรวจจะแจกใบสั่งคุณให้ตำรวจเลยร้อยนึง แล้วคุณก็ไปด่าตำรวจ

 

สิ่งสำคัญคือดูพื้นฐานระบบของการการเสียภาษีที่ถูกต้อง การจัดเก็บที่ถูกต้อง เหมาะสมไหม เพราะจริงๆแล้วเราก็รู้กันดีกว่าภาษีไม่มีใครชอบที่จะจ่าย ดังนั้นสิ่งที่ต้องใส่ใจคือที่จ่ายทุกวันนี้มันถูกต้องและเหมาะสมแล้วหรือยัง

Q : สุดท้ายอยากฝากอะไรที่ประทับใจกับทางบ้านบ้างครับ

 

ออกไปทำมาหากินกันเถอะครับ อย่ามัวแต่ฝัน ประสบการณ์จากการลงมือทำสำคัญกว่าเยอะครับ