022 – 025 : ประสบการณ์ในเดือนที่แย่ที่สุดของชีวิต

สิ่งหนึ่งที่ตั้งใจไว้.. หลังจากทำบล็อก “พรี่หนอม” ขึ้นมาใหม่แทน “บล็อกควายๆของนายหนอม” คือ การเริ่มต้นเขียนเนื้อหาใหม่ในมุมมองที่เปลี่ยนไปตามวัยที่มากขึ้น (แก่) และวางแผนกับตัวเองเอาไว้คร่าวๆว่าจะเขียนบล็อกให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งเรื่อง ซึ่งก็เป็นไปตามแผนแต่โดยดีหากนับจากเดือนมีนาคม 2559 เป็นต้นมา และก็หักเหมาจนล้มไม่เป็นท่าในเดือนมิถุนายน 2559

โดยปกติแล้ว ผมมีงานที่ต้องเขียนในแต่ละเดือนประมาณ 15-20 เรื่อง ตั้งแต่งานเขียนลงบล็อก บทความ หรือนิตยสารต่างๆ (มีทั้งเขียนฟรีและได้เงินค่าเขียนเล็กๆน้อยๆ) แต่ไม่รวมงานเขียน Advertorial และงาน Ghost Writer อื่นๆที่รับจ้างตามความต้องการของตลาดในขณะนั้น

นอกจากงานเขียนแล้ว ผมก็เริ่มที่จะเพิ่มเติมคลิปวีดีโอลงยูทูปอาทิตย์ละ 1-2 เรื่อง และถ้าหากที่ต้องเขียนลงพรี่หนอมด้วยก็คงจะได้ประมาณ 30 เรื่องต่อเดือนพอดี คิดเป็นเฉลี่ยวันละเรื่อง (ไม่รวมงานเขียนหนังสือ และทำความพร่ำเพร้อลง Facebook ส่วนตัว) และเนื่องจากงานเขียนนี้ถือเป็นรายได้เพียงส่วนหนึ่งจากงานที่ผมทำ มันย่อมแปลว่าผมต้องพยายามบริหารจัดการเวลาในการเขียนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด นั่นก็คือ เขียนให้เร็วขึ้น และ เขียนให้ดีขึ้น (แต่คิดว่าสิ่งที่เคี่ยวกรำให้งานเสร็จจริงๆนั้น คงเป็นพลังของเดตไลน์ที่ควบกระชั้นเข้ามากกว่า)

022

ในเดือนมิถุนายน 2559 มีเหตุการณ์หลายๆอย่างเกิดขึ้นในแบบที่ไม่คาดคิด ไปจนถึงสิ่งที่วางแผนไว้หลายๆอย่างผิดพลาด ทำให้ผมเกิดอาการติดสตั้นท์ขึ้นมาจนต้องทิ้งงานหลายๆอย่างไป และหนึ่งในนั้นคืองานเขียนบล็อกเรื่องราวส่วนตัวลงที่แห่งนี้ แบบชนิดที่เรียกได้ว่าไม่มีอารมณ์เขียนไปดื้อๆ (ขอโทษสำหรับใครหลายคนที่ถามถึงนะครับ.. แต่เอาจริงๆก็มีอยู่ 2-3 คนแค่นั้นเอง TwT)

วันนี้ได้ฤกษ์เขียนออกมาเสียที และสิ่งที่ผมอยากเขียนในวันนี้ มันคงเป็นแค่การบันทึกไดอารี่ของความรู้สึกในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อาจจะไม่ใช่แนวความคิด ปรัชญา บทความเสียดสีจิกกัดสังคม เหมือนที่เขียนตามปกติ แต่ผมถือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ผมได้เรียนรู้และเข้าใจชีวิตมากยิ่งขึ้น และถ้าหากใครสักคนที่ได้เข้ามาอ่านมันเห็นว่ามีประโยชน์ ผมคงรู้สึกยินดีมากๆ ที่ประสบการณ์ชีวิตผมนั้นกลายเป็นกระจกสะท้อนอะไรบางอย่างให้กับใครคนนั้น (ที่หลงเข้ามา – -“)

เอาล่ะ.. ถึงเวลาเลิกเขียนอะไรหล่อๆ พร่ำเพร้อพรรณาแล้วล่ะฮะ มาลองดูละกันว่าในเดือนที่ผ่านมาผมมีชีวิตอยู่ด้วยความรู้สึกแบบไหนบ้าง

งานหนักกลายเป็นการบำบัดความรู้สึก

เรามักจะได้ยินกันคำกล่าวว่า “งานหนักไม่เคยฆ่าคน” ถึงแม้ว่าผมจะไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้สักเท่าไร แต่ในช่วงที่ผ่านมาสิ่งที่เพิ่มขึ้นจากคำว่า “งานหนัก” นั้น ทำให้ผมรู้สึกว่ามันเป็นการบำบัดความเครียดได้เป็นอย่างดี เพราะมันทำให้เราต้องจดจ้องอยู่กับสิ่งอยู่ตรงหน้า มากกว่าปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านไปกับความเครียดที่เกิดขึ้นมา แน่ล่ะว่ามันไม่ได้ทำให้เราลืมสิ่งที่เกิดขึ้น แต่มันก็ยังดีกว่าการนั่งฟูมฟาย ระบาย หรือออกไปทำร้ายตัวเองให้แย่ลง ดังนั้นถ้าหากคุณมีปัญหาชีวิต ลองเลือกใช้งานหนักๆ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจสักช่วงหนึ่งก็ไม่เลวเหมือนกันครับ

ปัญหาเรื่องเงิน มันเกิดจากคน

ถ้าผมจำไม่ผิดคำพูดนี้น่าจะมาจากโค้ชหนุ่ม (Money Coach) ซึ่งเมื่อผมได้พบกับปัญหาเรื่องเงินที่เกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวกลับยิ่งตอกย้ำให้ผมรู้สึกเลยว่า “มันเป็นความจริง” เพราะไม่ว่าจะมีเงินมากมายเท่าไร ไม่ว่าจะพยายามใช้เงินแก้ปัญหาแค่ไหน แต่สุดท้ายเราปฎิเสธไม่ได้หรอกว่า ปัญหาล้วนมาจากคน มากกว่า “เงิน”

ปัญหาที่ว่า คือ การใช้จ่ายของคนใกล้ตัวแบบไม่คิดหน้าคิดหลังในบางเรื่อง ซึ่งทำให้ผมรู้สึก “เสียดาย” แต่สิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ คือ “ความรู้สึก” ที่เสียไป และ “การกระทำ” ที่ไม่คาดคิดมากกว่า

เราปฎิเสธไม่ได้หรอกว่า ในโลกปัจจุบันนี้ เงินเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ วิธีการที่เราปฎิบัติต่อเงินในทุกๆวัน ที่ทำให้เราต้องหันมาตั้งคำถามว่า การหาเงิน การใช้จ่ายเงินของเรา มันกำลังทำร้ายคนรอบตัวเราอยู่หรือเปล่า?

เราด่าทอ “คนที่แตกต่างจากเรา”
เพียงเพราะเขาอาจจะเป็นคนที่เราเกลียด

ขอยอมรับตรงๆว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยจะชอบ “กูรู” ที่จัดงานสัมมนาแบบหลอกลวงสักเท่าไร โดยเฉพาะเรื่องของความสำเร็จแบบฉับไว ร่ำรวยทันใจ เพราะผมไม่ค่อยเชื่อในการทำอะไรแบบ “สั้นๆง่ายๆ” เพื่อให้ประสบความสำเร็จ “เร็วๆ” อย่างที่ต้องการ แต่ในอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่ผมเตือนตัวเองในฐานะ “คนทำงาน” คือ วันหนึ่งเราอาจจะกลายเป็นอย่างเขาโดยที่เราไม่รู้ตัวก็ได้ เพราะไม่ว่าเขาจะขายความสำเร็จในรูปแบบไหนก็ตาม หรือเราจะก่นด่าเขารุนแรงแค่ไหน หากโชคดี เราก็ทำได้แค่เตือนสติใครสักคนที่อ่านเจอ แต่ถ้าหากโชคร้าย เราก็กลายเป็นคนสร้างศัตรูไปง่ายๆซะงั้น และถ้าวันนึงเราพลาดพลั้งเผลอไปทำบ้าง เราจะกล่าวอ้างกับตัวเองอย่างไร #เปิดการ์ดโลกสวย

ในช่วงนึงของชีวิตที่ผ่านมา ผมมักจะเขียนบทความประชดประชันแดกดันลงในเฟสบุ๊กส่วนตัวบ้าง Storylog บ้าง หรือหลุดพูดจาไปบ้าง ซึ่งที่พูดมาก็ไม่ได้ต้องการจะขอโทษอะไรหรอกครับ เพราะทุกวันนี้ผมก็ยังรู้สึกแบบนั้นอยู่เหมือนเดิมแหละ (อ้าว)

แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในตอนนี้ มันคือทัศนคติในการทำงานของตัวเอง ยิ่งเราด่าเขา เรายิ่งต้องชัดเจนในการทำงาน ซึ่งผมก็พยายามเลือกทางที่จะ “หากิน” กับคนที่มีเงินจ่าย มากกว่าการ “หากิน” กับความฝันที่มีราคาของคน โดยส่วนตัวแล้วผมค่อนข้างพอใจในการเขียนบทความ Advertorial ที่มีคนจ่ายเป็นแบรนด์ต่างๆ และการเป็นวิทยากรรับงานบรรยายมากกว่าจัดสัมมนาเอง ซึ่งทางที่ผมเลือกเดินแบบนี้บางครั้งมันก็เหนื่อย แต่ผมคิดว่าชีวิตเฉื่อยๆของผมคงไม่ได้ต้องรีบร้อนอะไรมากนัก

สิ่งที่น่าตลกในยุคที่กูรูกำลังเบ่งบานแบบนี้ ผมมองเห็นการเปลี่ยนผ่านจากคนที่เคยด่าผม กลายเป็นคนที่ด่าสิ่งที่ผมเคยด่า และมันก็ตลกตรงที่ว่าสุดท้ายแล้วเราก็ด่ากันไปกันมาอย่างสนุกปาก เพื่อความสะใจ แต่ไม่ได้เปลี่ยนให้อะไรมันดีขึ้นมา

หลังๆ ผมพยายามหยุดด่าคนที่ผมไม่ชอบในสิ่งที่เขาทำ (แน่ละ ยังคงมีด่าบ่นและกวนตีนอยู่บ้าง ตามประสาสันดานที่เลิกไม่ได้) แต่สิ่งที่ผมทำได้คือ แบ่งเวลามาทำผลงานที่เป็นทางเลือกให้กับพวกเขา เพื่อที่อย่างน้อยจะมีคนเห็นสิ่งที่เราให้โดยที่ไม่ต้องจ่ายด้วยมูลค่าหรือราคาที่แพง

ยิ่งเราโตขึ้น ปัญหาของเรายิ่งใหญ่ขึ้น

บททดสอบของชีวิตคนนั้น เริ่มตั้งแต่เป็นเด็ก เราทุกคนคงเจอปัญหาตั้งแต่ไม่สามารถใส่ถุงเท้าเองได้ ไปจนถึงกลายเป็นคนที่เธอทิ้ง และสุดท้ายสิ่งเหล่านั้นมันจะบอกว่า “มึงยังต้องเจออะไรอีกมากมาย”

ชีวิตบางคนดูคล้ายกับละคร ในขณะที่บางคนดูคล้ายว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง แต่นั่นแหละ ยิ่งเราเติบโตมากขึ้นเท่าไร ปัญหาในชีวิตมันก็จะมากและหนักขึ้นเท่านั้น สิ่งที่เราทำได้มีอยู่ 3 อย่าง คือสู้กับมัน ยอมรับมัน และปล่อยมันไป

ผมเชื่อว่า สิ่งที่ตามมาหลังจากเกิดปัญหา คือ หัวใจที่แข็งแกร่ง และประสบการณ์ที่แข็งขัน ที่จะช่วยให้เราฟันฝ่าชีวิตที่หนักขึ้นมาได้อีกเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงวันสุดท้ายของชีวิต

ความเข้มแข็งของคนเราแตกต่างกัน

ต่อจากเรื่องของปัญหาที่ใหญ่ขึ้น … หลายครั้งหลายคราวที่ได้ยินคำบ่นที่สรุปใจความได้ว่า “ปัญหาของเราหนักกว่าคนอื่น” ผ่านทางคำพูด การกระทำ ข้อความ บทสนทนา ซึ่งมันก็เป็นความจริงที่ว่า “มนุษย์เราสนใจเรื่องของตัวเองมากกว่าคนอื่น” (แน่ละ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นแบบนั้น)

ผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนอยู่กันและเรียนรู้ด้วยการแลกเปลี่ยน “ความรู้สึก” แก่กันและกัน ซึ่งมันแปลว่า สิ่งที่เราทำให้ใครคนหนึ่งที่เขามีปัญหาได้ คือ “รับฟัง” และ “เสนอแนะ” แต่ผู้ที่มีปัญหาคงต้องเลือกที่จะ “ฟัง” และ “ยอมรับ” ในสิ่งที่แตกต่างกับความคาดหวังของตัวเองด้วย

เมื่อเรามีปัญหา หลายครั้งเราคิดว่าคนที่เราให้ความสำคัญจะต้องมาช่วยแก้ไข แต่เอาแค่เข้าใจทฤษฏีที่ว่า “มนุษย์เราสนใจเรื่องของตัวเองมากกว่าคนอื่น” ก็คงเป็นสิ่งที่อยู่ในการพิจารณาลำดับแรกๆ ที่ต้องคิดอยู่ดีว่า “เราต้องแก้ปัญหาชีวิตเราด้วยตัวเอง”

เช่นเดียวกันกับผู้ที่หลุดพ้นปัญหานั้น มักจะมองเสมอว่า “ชีวิตกูยังหนักกว่ามึงเลย มึงจะอะไรนักหนากับเรื่องที่เกิดขึ้น” ในแง่มุมหนึ่งมันก็คงถูกต้อง แต่ “ความเข้มแข็งของมนุษย์” ที่แตกต่างกันนี่แหละ ทำให้มนุษย์แต่ละคนแบกรับมันไว้ได้ไม่เหมือนกัน และเราไม่มีสิทธิตีโพยตีพายบ่นออกมาหรอกว่า “ปัญหาของฉันนั้นหนักที่สุด” เพราะมันจะยิ่งตอกย้ำคำว่า “มนุษย์นั้นสนใจแต่เรื่องของตัวเอง” และมันน่าตลกตรงที่ว่ายิ่งเราคิดถึงปัญหาของเรามากแค่ไหน คนจะยิ่งไม่สนใจเรามากขึ้นเท่านั้น อาจจะเพราะเขาคิดว่า “แล้วมึงรู้ได้ไงล่ะว่าปัญหากูไม่หนัก?” กับ “กูก็เจอปัญหาไม่ต่างจากมึงหรอก แต่กูแค่ไม่แสดงออกเท่านั้น”

ถ้าหากวันนี้ชีวิตของเรามีปัญหา สิ่งที่เราควรทำ คือ แก้ไขด้วยตัวเองก่อน-อย่าคาดหวังให้ใครมาช่วย-อย่าเปรียบเทียบปัญหาของตัวเองกับคนอื่น และสุดท้ายคือ ปล่อยให้เวลามันจัดการปัญหาไปด้วยการทำใจยอมรับมัน

แต่ถ้าหากไม่ไหว ลองหาใครสักคนที่พอจะ “ฟัง” สิ่งที่เราอยาก “พูด” แล้วระบายมันออกมา โดยไม่ต้องแนะนำทางแก้ไขใดๆ แค่นั้นก็อาจจะพอแล้วที่ทำให้เรากลับมามีสติอีกครั้งหนึ่ง

กำลังใจเล็กๆน้อย คือ พลังที่ยิ่งใหญ่

โดยส่วนตัวผมไม่ใช่คนที่คิดบวกสักเท่าไร และก็ไม่ได้มองโลกตามความเป็นจริงเสียด้วย แต่ในช่วงที่แย่ที่สุดของชีวิต เราทุกคนล้วนต้องการกำลังใจเล็กๆน้อยๆที่ส่งผลให้เรามีชีวิตอยู่ต่อไปได้ การตบบ่าให้กำลังใจเบาๆ แล้วกระซิบบอกว่า “สู้ๆ” ทั้งที่รู้ว่าช่วยอะไรไม่ได้ มันอาจจะเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ใครหลายคนอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกหลายวัน

ในช่วงที่เกิดปัญหาหนัก ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนโชคดีที่สามารถเอาเรื่องเหล่านี้มาปลอบประโลมจิตใจได้ในระดับหนึ่ง ขอให้พื้นที่ตรงนี้ขอบคุณหลายๆคนที่ส่งต่อสิ่งเหล่านั้นมาให้ในวันที่แย่ๆของชีวิต (ทั้งที่พวกเขารู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม) ตั้งแต่คำขอบคุณเล็กๆน้อยๆไปจนถึงคำปรึกษาราคาแพง ขอบคุณจริงๆครับ

การจากลาเป็นธรรมดาของมนุษย์

เกิดขึ้น – ตั้งอยู่ – ดับไป การจากลาเป็นธรรมดาของชีวิต ช่วงนี้เป็นอีกช่วงหนึ่งที่เพื่อนๆพี่ๆที่ทำงานได้เดินทางก้าวหน้าตามชีวิตและอาชีพ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี และแอบเศร้ากับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเหมือนเช่นเคย

ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นช่วงเดียวกันที่ใครบางคนเลือกที่จะทิ้งมิตรภาพดีๆ ที่มีกับผมไปเช่นเดียวกัน ซึ่งผมก็ทำได้แค่ “ยิ้มรับ” และหวังว่าเวลาคงจะช่วยเยียวยาทุกอย่างให้ชีวิตของเขาดีขึ้น

สุดท้ายแล้วสิ่งที่ผมเขียนขึ้นมานี้ มันก็เป็นเหมือนกับประสบการณ์ที่ผ่านมา ความเศร้า ความเหนื่อย ความท้อแท้ และความพยายามที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนนี้ เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์หนักหนาที่ผมไม่เคยเจอมาตลอดทั้งชีวิต และวันนี้ผมบันทึกไว้เพื่อบอกกับตัวเองว่า

 

“เรากำลังเดินทางไปสู่ปัญหา
ปัญหาที่มีความหนักหนาขึ้น
ปัญหาที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
ปัญหาที่ทำให้ขีวิตยากขึ้น

 

แต่เชื่อเถอะว่า
เราจะผ่านมันไปได้อีกครั้ง
เหมือนกับที่มันเกิดขึ้นในวันนี้ :)”

-004 : เมื่อเราเติบโตขึ้น เรากลับพบว่าชีวิตมันไม่ได้ “อร่อย” เหมือนเคย

 

เมื่อเราเติบโตขึ้น

เรื่องที่รับรู้มันไม่ได้มีแต่อร่อยเหมือนเคย

ทำให้รู้สึกว่าแต่ก่อนเรานี่เป็นอีป้าโลกสวยในกะลาจริงๆ

แต่ก่อนเชื่อว่าชีวิตแม่มคอนโทรลได้สิ คนที่ยังคอนโทรลไม่ได้

 

อาจเป็นเพราะยังไม่เข้าใจตัวเอง ยังไม่เข้าถึงอะไรแบบนี้

ผมนั่งอ่าน Status ที่ว่านี้ในเพจๆหนึ่ง แล้วย้อนนึกถึงตัวเองในวันเก่าๆ กับประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตถึงระดับที่เรียกได้ว่าเข้าสู่วัยกลางคน สังเกตได้จากเส้นผมดำที่ลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ จนทำให้เราต้องคอยปกปิดความขาวด้วยสารเคมีที่ผ่านการคัดสรรว่ามาจากธรรมชาติ

 

ก่อนที่จะกลายเป็นโฆษณายาย้อมผมไปมากกว่านี้ คำถามที่มีอยู่ในใจก็เริ่มปรากฎชัดเจนขึ้นว่า ยิ่งเราเติบโตขึ้น สิ่งที่เราคิดนั้นควรเปลี่ยนแปลงไป หรือ ยังยึดมั่นอยู่กับมันเหมือนอย่างเดิม ถ้าให้ตอบแบบสวยงามตามเนื้อผ้าก็ควรจะมีทั้งสองอย่าง คือ สิ่งที่ดีควรจะยึดถือไว้ และ สิ่งที่ไม่ดีก็ควรจะเปลี่ยนแปลงไป

 

แต่หากตอบโดยมองโลกจากมุมมองของตัวผมเอง ผมเชื่อว่าทุกสิ่งที่เราคิดนั้นต้องเปลี่ยนแปลงไปเสมอ แต่เหตุผลที่บางความคิดยังไม่ถูกเปลี่ยนไปนั้น มันคงเป็นเพราะยังไม่มีสถานการณ์มากระทบให้เราต้อง “เปลี่ยน” มากกว่า

 

ลองจินตนาการเล่นๆขึ้นมาว่า ถ้าหากคุณเป็นคนที่ยึดมั่นในความดี แต่ถูกรังแกด้วยความชั่วช้าที่ถาโถมเข้ามาเรื่อยๆในชีวิต วันหนึ่งคุณอาจจะเป็นคนที่เปลี่ยนแปลงกลายเป็นคนที่ไม่ศรัทธาความดีอีกต่อไป หรือต่อให้คุณกล้าบอกว่า คุณยังศรัทธาความดีอยู่ก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วสายตาที่คุณมองโลกนั้นก็จะไม่เหมือนเดิมอยู่นั่นแหละ นี่คือเหตุผลที่ผมให้คำตอบกับตัวเองว่า ทุกความคิดนั้นมีสิทธิ์เปลี่ยน

 

คำถามต่อมาหลังจากคำตอบว่า “ทุกคนทุกสิ่งล้วนต้องเปลี่ยนแปลง” คือ การเปลี่ยนแปลงที่ว่าอยู่ในระดับไหน ระหว่าง “ปัจจัยภายนอกที่มาตกกระทบให้ภายในเปลี่ยน” หรือ “ปัจจัยภายในเปลี่ยนเพราะอยากจะเปลี่ยนให้สิ่งที่อยู่ข้างในนั้นดีขึ้นกว่าเดิม” กันแน่

 

และต่อให้ “ประสบการณ์เปลี่ยนเราแค่ไหน แต่สุดท้ายเราต้องเปลี่ยนตัวเอง” คำพูดคมๆคุ้นๆ ที่เคยบอกผมว่า ถึงแม้สภาพแวดล้อมหรือประสบการณ์ที่ว่านั้น มันคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตัวเราจากภายนอกและมันอยู่ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะสภาวการณ์ต่างๆล้วนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ตะกอนความคิดจากภายในที่ถูกสร้างขึ้นมาจากตัวเราเองนี่แหละ จะทำให้เราเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

 

ลองจินตนาการต่อไปว่า ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่เจอคนโกงมาเยอะมากๆ มันย่อมไม่แปลกที่คุณจะไม่ไว้ใจใคร (จากประสบการณ์) แต่ไม่ได้แปลว่าคุณต้องไม่ศรัทธาในความดี หรือยึดถือว่าสายตาที่คุณมองโลกนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง (จากสิ่งที่อยู่ภายใน) และในขณะเดียวกัน ถ้าคุณเจอแต่คนดีมาโดยตลอด ก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะสามารถไว้ใจใครได้ 100% จากโลกที่เราเจอ

 

“อย่าคิดว่าชีวิตมันจะนิ่ง ถ้าอายุมึงยังไม่ถึง 40”

 

คำพูดสั้นๆที่ผมจำขึ้นใจจากปากของพี่ที่เคารพ อาจเป็นหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านในช่วงวัยกลางคนกลับกลายเป็นการพยายามทำความเข้าใจโลก มากกว่าความพยายามที่จะสร้างโลกที่เราเข้าใจเหมือนอย่างในวัยก่อนหน้านี้

 

ในวันที่เราอายุ 20-30 โลกที่เราแบกไว้ดูเหมือนยิ่งใหญ่ เราเห็นใครหลายคนที่ประสบความสำเร็จจาก “ต้นทุน” ที่มีมาไม่เท่ากัน และ “ความสามารถ” ที่แตกต่างสร้างสรรค์จากธรรมชาติกอปรกับความพยายามที่จะสร้างมันขึ้นมาด้วยไฟของหนุ่มสาว

 

แต่เมื่อเวลาผ่านไป หากมีโอกาสได้ย้อนมองดูตัวเองในสิ่งที่ผ่านมา และมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงที่หนักหนาในวัยที่เกินกว่า 30 ปี การเสื่อมถอยของคนรุ่นก่อน ภาระความรับผิดชอบที่อาจจะไม่ใช่ขึ้นอยู่กับเราเพียงคนเดียว ผูกพันลดเลี้ยวไปจนถึงความคงที่บางอย่างที่ “นิ่ง” จนอาจกลายเป็นหลุมพรางในการใช้ชีวิต ทำให้เริ่มรู้สึกสัมผัสถึงความซับซ้อนของการเป็นมนุษย์ และมันก็ทำให้สะทกสะท้อนใจไม่ใช่น้อยว่า

 

ไอ้ชีวิตที่เราคิดว่าเราเข้าใจนั้น…

จริงๆเราไม่ได้เข้าใจมัน .. แม้แต่นิดเดียว :)

 

 

-005 : ถ้าทำงานนี้แล้วไม่ได้เงิน … มึงจะยังทำงานนี้อยู่หรือเปล่า?

 

ถ้าทำงานนี้แล้วไม่ได้เงิน …

มึงจะยังทำงานนี้อยู่หรือเปล่า?

ผมเคยถามคำถามแบบนี้กับตัวเอง 2 ครั้ง ครั้งแรก มันเกิดขึ้นเมื่อหลายปีที่แล้ว ตอนตัดสินใจเริ่มต้นเขียนบล็อกด้วยความรู้สึกสั้นๆ ว่า “อยากลองทำดู” นับตั้งแต่วันแรกที่เขียนบล็อกเรื่องราวไดอารี่ส่วนตัว เพราะคิดว่าแนวคิดและแนวเขียนของตัวเองนั้นช่างเลิศหรูเสียเต็มประดา มาจนถึงวันที่ตัดสินใจเขียนบล็อกให้ความรู้ เพื่อที่จะลองดูว่าเราจะได้ประโยชน์อะไรจากการทำแบบนี้

 

วันเวลาผ่านไปอย่างช้าๆ แต่ก็รวดเร็วพอที่ผมจะเห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงชนิดที่เรียกว่าแปรผัน 2 ปีแรกหลังจากที่ตัดสินใจทำแบบนี้ ความจริงที่พบเห็นได้อย่างนึงก็คือ ไดอารี่ขีวิตมึงนั้นไม่มีใครสนใจ เพราะมันไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับชีวิตเขา และความคิดคำคมที่มึงเสกสรรปั้นแต่งมานั้นมันช่วงกลวงและกากเสียเต็มประดา ส่วนความรู้ที่พยายามจะแชร์มาน่ะหรือ มันก็เป็นแค่การก็อปปี้ความคิด คำสอนของอาจารย์หลายๆท่าน รวบรวมมาเป็นบทความที่ไร้ความสำคัญกับชีวิตคนเหมือนเดิม

 

ไม่ต้องมีคำหล่อๆของไอน์สไตน์อย่าง “มีแต่คนบ้าเท่านั้น ที่จะทําสิ่งเดิมซ้ํา ๆ แต่กลับหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง” ให้ฟัง สำนึกและสติก็คงพอที่จะคิดเองได้ว่า สิ่งที่เราทำนั้นมันช่างไร้ค่า ดังนั้นควรจะทำต่อหรือเลิกราแล้วต่อกันดี ถ้าเลิกก็จบ ถ้าต่อก็ไม่รับประกันว่าจะสำเร็จ เพราะความอดทนและความพยายามที่ผิดที่ ก็เหมือนคนโง่ที่พาตัวเองเสียเวลาชีวิตไปวันๆ เท่านั้นเอง

 

น่าแปลกที่ผลลัพธ์ของมันปรากฎในปีที่ 4 เติบโตในปีที่ 5 และมาเบ่งบานแก่กล้าในปีที่ 6 จนกลายเป็นว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมดนั้นเหมือนเรื่องง่ายดายที่เตรียมพร้อมไว้เรียบร้อยในอากาศ รอแค่คนมาสูดดมเข้าไปเหมือนกาวแล้วดึงดาวแห่งความสำเร็จมาประดับไว้ตรงบ่า จนถึงวันนี้ความพยายามที่ผ่านมาก็ยังคงถูกใครหลายคนสูดดมแล้วบอกว่า “เพราะคุณมีโอกาสที่ดีกว่าคุณเลยทำได้”

 

เมื่อเส้นทางถูกจุดติด สิ่งที่ตามมาทั้งหมดในชีวิตเราจะเรียกมันว่าโอกาส ซึ่งโอกาสก็ถูกแบ่งแยกย่อยออกเป็น “โอกาสที่ต้องทำ” “โอกาสที่ควรทำ” และ “โอกาสที่เราเองก็ไม่รู้ว่าควรทำยังไงกับมันดี” และตรงนี้คือสิ่งที่จะมาเปิดประสบการณ์ให้เราก้าวไปต่อ จนผ่านมาได้ในถึงทุกวันนี้

 

และการ์ดกับดักก็เริ่มทำงาน เราเริ่มหลงระเริงอยู่กับโอกาส เริ่มฝันหวานกับความก้าวหน้า เริ่มสูดดมกัญชาที่ทำให้เราคิดว่าเรากลายเป็นผู้ที่แน่นอนกับความสำเร็จ แต่สุดท้ายแล้วความรู้สึกเหล่านี้อาจจะนำพาให้เราล้มจนเจ็บเจียนตายก็ได้

ถ้าทำงานนี้แล้วไม่ได้เงิน …

 

มึงจะยังทำงานนี้อยู่หรือเปล่า?

 

เมื่อถึงจุดนั้น สิ่งที่เราใช้ต่อต้านการ์ดกับดัก คือ ถามคำถามเดิมซ้ำๆ ให้มันตอกย้ำเข้าไปถึงสิ่งที่เราต้องการมากกว่า “เงิน” แน่ล่ะว่าเงินมันซื้อทุกอย่างได้แหละ แต่คำถามคือ บางอย่างที่เงินซื้อไม่ได้สำหรับเรานั้นคืออะไร และงานที่เราเลือกทำนั้นทำให้เราได้สิ่งนั้นกลับมาหรือเปล่า เช่น ประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานกับคนเก่ง (ซึ่งถ้าใช้เงินซื้อก็ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสแบบนี้หรือไม่) ความรู้สึกดีๆ ที่ได้เป็นผู้ให้หรือไ้ด้รับการยอมรับ (เงินซื้อได้ แต่เราจะภูมิใจในตัวเองเท่านี้หรือเปล่า) หรือแม้แต่การเลือกที่จะไม่ทำงานเพื่อเงิน เพราะต้องการ “เวลา” ในช่วงเดียวกันทำอย่างอื่นในชีวิตที่เราคิดว่ามันมีค่ามากกว่าเงินที่ได้รับมา

 

ไม่ต้องแปลกใจถ้าเจอหลายคนก่นด่าว่าทางที่เราเลือกนั้นเป็นทางที่โง่เง่า ไม่ต้องเศร้าถ้าหากเราจะเลือกทางเดินที่ผิดจนต้องเอ่ยคำว่า “รู้งี้” ไม่ต้องท้อแท้ พูดจาร้องหาความดี เพราะบางทีสิ่งที่เราเลือก โอกาสที่เราใช้ มันอาจจะให้อะไรบางอย่างที่เจ็บปวด และไม่ได้แม้แต่เงินก็ตาม

 

เพราะสุดท้ายทางที่เราเลือกเดินนี่แหละมันจะเป็นคำตอบว่าเราชื่นชอบในการใช้ชีวิตของเราจริงๆหรือไม่ หรือสุดท้ายเราเป็นได้แค่เพียงคนโง่เง่าที่เอาแต่เสียเวลาคิดไปเองว่าสิ่งที่เราทำนั้นมันยิ่งใหญ่เสียเต็มประดา

 

 

-009 : ความสำเร็จที่ไม่มีจริง คล้ายกับคนที่ถูกทิ้งให้ตายอย่างเดียวดาย

 

“แกน่าจะลองเขียนเรื่องพวกนี้ออกมาบ้างนะ”

 

คำพูดนี้มีพลังอย่างประหลาด ทำให้ผมรู้สึกเหมือนโดนน้ำแข็งราดลงกลางศีรษะ เมื่อมิตรสหายท่านหนึ่งตอบกลับมาหลังจากได้ยินเรื่องที่ผมพูดเกี่ยวกับ “ความสำเร็จ” ของผู้ชายที่ไม่ประสบความสำเร็จคนนั้น

 

เราทั้งคู่นั่งอยู่ในร้านเหล้า-ไม่สิ-เราควรเรียกมันว่าร้านขายอาหารที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มันเป็นร้านประจำของผมและเธอที่ต้องมาเจอะเจอกันอยู่เสมอ ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าร้านเก่าแก่แบบนี้กำลังจะปิดตัวลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ–ใช่! เศรษฐกิจที่ว่าดีสำหรับบางคน–และย่ำแย่เหลือเกินสำหรับคนอีกหลายคน

 

ก่อนที่ค่ำคืนนี้จะเลือนหายไป

ผมมีเรื่องหนึ่งอยากเล่าให้คุณฟัง…

คุณเคยพยายามจะประสบความสำเร็จบ้างหรือเปล่า เขียนเป้าหมายออกมาลงในกระดาษ พาดหัวอย่างหนักในวันเริ่มต้นของปีใหม่ ตามมาด้วยการทบทวนเป้าหมายอยู่เป็นนิจ แล้วคอยสะกิดบอกกับตัวเองว่า “ฉันทำได้” ซ้ำไปซ้ำมา เหมือนกำลังสัมมนาอยู่ในฮอลล์ปลุกใจของธุรกิจเครือข่ายขนาดใหญ่ ก่อนที่จะพบว่าจริงๆแล้ว ความสำเร็จที่เรากำลังลุ่มหลงนั้น มันไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นและสำคัญกับชีวิตเสียเท่าไรนักหรอก

 

เขาถามคำถามยาวยืดนั้นกับผมเบาๆ มันก็เป็นอีกวันที่ผมนั่งอยู่ร้านเหล้าร้านเดิม-ไม่สิ-ร้านอาหารที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างที่ผมบอกนั่นแหละ แต่วันนั้นร้านยังคราคร่ำไปด้วยผู้คนล้นหลาม ต่างคนต่างจับจ่ายใช้สอยราวกับงานที่ทำคือการพิมพ์แบงก์ออกมาจากอากาศ-โดยไม่ทีท่ารู้ตัวเลยว่าชีวิตจะลำบากอย่างในวันนี้

 

“พี่ยังไม่ประสบความสำเร็จอะไรนี่ครับ ทำไมถึงกล้าพูดแบบนั้น” ผมถามเขากลับไปแบบเกรงๆ เมื่อดูรอยสักรูปอินทรีย์ที่หลังมือพร้อมกับกล้ามแขนที่มีเส้นรอบวงใหญ่กว่าแขนผมสัก 2 เท่าได้

 

“เฮ้อ… การมีชีวิต ได้หายใจปกติ อยากจะเดินไปไหนมาไหนได้ นี่แม่งก็เรียกว่าประสบความสำเร็จได้แล้วนะคุณ คุณหาข้าวกินได้เอง มีเงินใช้ในแต่ละวัน มีฟูกดีๆให้นอนไม่ปวดหลัง แล้วคุณยังจะเอาอะไรอีกหรอ เอางี้ คุณจะเอาอะไรดีล่ะ ร้อยล้าน พันล้าน จิตวิญญาณแห่งการเป็นมนุษย์ผู้แบ่งปัน หรือฝันที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไทย?” เขากล่าวตอบพลางสัพยอกผมที่หน้าถอดสีเบาๆ อาจจะเป็นเพราะเขารู้ว่าผมกำลังเมาอยู่นิดๆ ถึงได้กล้าถามอะไรที่ผิดปกติอย่างนี้ออกไป

 

ผู้ชายคนนี้ -เขา- เคยเป็นรุ่นพี่ที่ผมเคารพมากๆ มีเพียบพร้อมทุกอย่างจนถึงขั้นเรียกได้ว่า “หนุ่มเพอร์เฟค” แต่หลังจากเหตุการณ์การเมืองครั้งนั้น เขากลายเป็นคนที่ตกงาน ไร้ญาติ ส่วนหนึ่งเกิดจากอุดมการณ์ที่เลือกข้างผิด อีกส่วนหนึ่งเกิดจากความคิดที่ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่ออำนาจของเขาเอง

 

มาถึงวันนี้ความ “เพอร์เฟค” ของเขาเหมือนกับเงาสะท้อนความพิกลการของสังคมไทยที่ชอบพูดพล่ามถึงความดีไปพร้อมๆกับการหลบเลี่ยงภาษีโดยที่ไม่ได้รู้สึกผิดอะไรแม้แต่น้อย

 

“เอาจริงๆนะคุณ ทุกวันนี้เราแม่งรู้สึกขาดเพราะถูกกระตุ้นด้วยการเปรียบเทียบ” เขาพูดพลางหยิบโทรศัพท์สมาร์ทโฟนรุ่นเก่ากึ้ก แต่มันยังใหม่พอที่จะพาเขาเข้าสู่โลกออนไลน์ด้วย “อวตาร” เพื่อเสพข่าวสารต่างๆที่เขาอยากรู้ความเป็นไปทุกอย่างของโลก ตั้งแต่ข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ การเมืองเลือกข้าง ไปจนถึงเด็กข้างบ้านสุดฮอต

 

“รู้มั้ย.. ผมชอบนั่งไล่แอดคนดังทั้งหลาย คุณรู้ไหมส่วนใหญ่คนพวกนี้เขารับแอดหมดนะ เพราะพวกเขาอยากมีเพื่อนเยอะๆ มีสังคมเยอะๆ จะได้เข้าหาผู้คนได้เยอะๆ คุณว่ามันแปลกไหมล่ะ? คนพวกนี้แม่มยิ่งดังแล้วกลับต้องการเพื่อนมากขึ้น แม้จะไม่ใช่เพื่อนจริงๆก็ตาม” เขาเปิดรูปอวตารหน้าจอสีดำล้วน พร้อมชื่อผู้ใช้งานชวนขบขันอย่าง “ผู้ชายอารมณ์ดี ยิ่งกว่านี้ก็บ้าแล้ว”

 

เขายื่นมือส่ง “โลกออนไลน์” ของเขาให้ผมดูไปพลางๆ พร้อมกับพูดต่อว่า “ลองดูนะ คุณจะเห็นคนที่ชอบโชว์ว่าตัวเองไปเที่ยวไหน คนที่โพสส่อเสียดก่นด่าสังคมเหมือนมีอะไรในใจ คนที่แชร์คำคมธรรมะ-คุณธรรม-เรื่องน่าอ่าน ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพราะพวกเขาอยากจะสร้างตัวตนของตัวเอง” เขาหยิบแก้วไวน์ขึ้นมาจิบต่อ ละเลียดรสชาติของมันสักพัก

 

“ยิ่งเขาประสบความสำเร็จมากแค่ไหน เขาก็ต้องพยายามที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้นไป ทำตัวรู้เรื่องเข้าใจโลกให้มากขึ้น พูดถึงเรื่องความเก่งกาจของตัวเองบ่อยขึ้น จนคนรอบข้างชื่นชมและอยากเป็นอย่างเขา แต่เขาก็ไม่รู้หรอกว่าเขาต้องการอะไรจริงๆในชีวิต”

 

เขาหยุดยิ้ม “คุณเชื่อไหมล่ะ.. ถ้าเราเห็นคนพวกนี้ทุกวัน ติดตามเขาไปเรื่อยๆ วันหนึ่ง เราก็จะค่อยๆรู้สึกอยากจะมี อยากจะเป็นขึ้นมาซะงั้น ยิ่งถ้าหากไอ้นั่นเป็นเพื่อนพี่ รุ่นน้อง คนรู้จักของคุณล่ะ รับรอง คุณก็จะยิ่งกดดันตัวเองและถามคำถามซ้ำๆว่า ทำไมวะ กูแม่มไม่ดีไม่เป็นเหมือนเขา”

 

“ผมว่า ผมไม่เป็นนะ.. ครับ เอ่อ พี่อาจจะคิด. คิดมากไป” ผมเริ่มไม่แน่ใจว่าคุยกับจอมเผด็จการผู้ยิ่งใหญ่ด้านความคิดอยู่หรือเปล่า แต่ดูท่าเขามั่นใจและเชื่อถือในความคิดของตัวเองมากๆ มากเสียใจไม่ฟังใคร – หรือเป็นผมเองวะที่ต่อต้านเขาอยู่ในใจ – ผมคิด

 

“ฮ่าๆๆ” เขาตบไหล่ผมเสียงดัง แล้วก็ยิ้มกลั้วหัวเราะให้เบาๆ “ให้มันได้แบบนี้สิวะ ! นั่นมันก็แปลได้สองอย่าง คือ คุณไม่ได้อยากเป็นแบบนั้น หรือคุณไม่เห็นความสำคัญของคนๆนั้น มันก็แค่นี้เอง”

 

“คุณอยากเป็นแบบผมไหมล่ะ ?” เขาถามคำถามที่ทำให้ผมสั่นหัวแบบรัวๆ “ในสายตาของคุณ สิ่งที่ผมพูดแม่งก็ไม่ได้มีคุณค่าอะไรหรอก มันเป็นแค่คำตอบของคนที่.. ยังไงล่ะ เอ้อ ไม่สำเร็จ แล้วมาทำตัวเป็นเอกอุพหูสูตผู้รู้แบบนั้น ทำตัวน่าเชื่อถือไปวันๆ เรียกว่า กลวงอะไรแบบนั้นก็ได้มั้ง ฮ่าๆๆ ”

 

“แต่ถ้าผมบอกว่าผมเคยผ่านจุดนั้นมาก่อน จุดที่ไม่เคยฟังใคร คิดว่าจะตามหาสิ่งที่ใช่ ไล่ล่าเป้าหมาย แต่สุดท้ายวันที่ผมล้มลง ผมก็พบว่าจริงๆแล้วเป้าหมายที่ทุกคนควรทำได้คือการมีชีวิตที่อยู่รอดไปอีกหนึ่งวัน คนเราไม่ได้ต้องการความสำเร็จอะไรมากนักหรอก ไอ้ห่า” เขาพูดจบแล้วกระดกไวน์จนหมดแก้ว – ก่อนที่ลุกขึ้นเดินจากไป ผมปรายตาเห็นเขากำลังทักทายมาเฟียรุ่นใหญ่ในร้านอาหาร – คงไม่มีอะไรหรอกมั้ง – ผมคิดตามประสาคนวิตกจริตบวกกับโรคแพนิคอ่อนๆ

 

…และนั่นเป็นวันสุดท้ายที่ผมได้เห็นหน้าเขา

 

“แกกำลังคิดอะไรอยู่?”

 

ผมมองหน้า “เธอ” ก่อนจะสังเกตเห็นว่าควันบุหรี่จากปากของเธอดูคล้ายหมอกบางๆ และค่อยๆจางหายไปกับแสงไฟในร้าน พร้อมกับรอยยิ้มมุมปากที่ผุดขึ้นมาอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว

 

เราไม่รู้หรอกว่าที่เขาพูดในวันนั้น มันคืออะไร ? แต่พอมาถึงวันนี้ เราเริ่มกลับรู้สึกว่ามันใช่.. ไม่ใช่สิ มันกลายเป็นความจริงโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย ทุกวันนี้เราถามตัวเองซ้ำๆนะว่า แล้วเอาเข้าจริง มนุษย์อย่างเราต้องการอะไรกันแน่

 

เธอยิ้ม.. แล้วตอบคำถามผมว่า “เราไม่มีวันรู้หรอกว่า ความสำเร็จคืออะไร จนกว่าเธอจะเริ่มต้นจากความล้มเหลว” – เธอชอบพูดประโยคคมๆ ให้ผมต้องตีความอย่างที่ไม่รู้ความหมายอีกแล้ว นี่เป็นประโยคที่ 458 ที่ผมเคยได้ยินจากเธอ แต่ไม่เคยกล้าถามกลับไปสักทีว่าสิ่งที่เธอพูดหมายความว่าอะไร – บางทีเธอคงคิดว่าผมโง่ – แต่ก็ช่างมันเถอะ จะมีอะไรดีกว่าในวันนี้ที่มีเพื่อนคนหนึ่งนั่งอยู่เคียงข้างกัน

 

จะพี่คนไหน จะเพื่อนคนไหน จะคนรอบตัวสักกี่คน พวกเขาเหล่านั้นจะรู้สึกถึงความสุขเล็กๆที่ผมได้มีเพื่อนนั่งกินข้าวอยู่ข้างๆ ในวันที่กำลังตกงานและไม่รู้ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรต่อไปบ้างไหมนะ

 

อยู่ๆ ผมก็คิดถึงประโยคที่พี่คนนั้นพูดขึ้นมาอีกครั้ง

“คนเรามันไม่ได้ต้องการความสำเร็จอะไรมากนักหรอก”

 

 

-011 : ความสำเร็จของชีวิต.. ควรเริ่มต้นจากสิ่งที่เราไม่ชอบ

 

โดยปกติแล้วผมเองเป็นคนที่ไม่ค่อยใช้ “แรงบันดาลใจ” ในการขับเคลื่อนชีวิตสักเท่าไร อาจจะเพราะนิสัยดั้งเดิมที่เป็นคนที่ค่อนข้างจะแอนตี้กับแนวคิด “บวกๆ” ในระดับหนึ่ง (บางครั้งอาจถึงขั้นเกินงามจนอาจเกิดอันตรายต่อชีวิต) แต่ด้วยหน้าที่การงานที่ทำก็มักจะได้รับคำถามเรื่องการค้นหาตัวเองเป็นระยะๆ หรือได้ไปแชร์ประสบการณ์อะไรต่างๆให้กับคนรุ่นหลังฟังอยู่เสมอ (สั้นๆ แปลว่าผมเริ่มแก่นั่นเอง – -“)

 

อย่างล่าสุดเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปเป็น Guest Speaker ให้กับโรงเรียนสอนการแสดงชื่อดังแห่งหนึ่งย่านอารีย์ (Ideo Performing Arts School ของครูเปิ้ล Mind Director) ในหัวข้อเรื่อง Personal Branding และได้พูดถึงประเด็นเรื่องการ “ค้นหาตัวเอง” ที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์และไม่อยากให้มันจบลงแค่เพียงในคอร์สนี้ ผมเลยตั้งใจบันทึกเป็นข้อเขียนเล็กๆไว้เผื่อว่าใครหลงเข้ามาอ่าน :)

 

สำหรับผมแล้ว การค้นหาตัวเองไม่ได้เริ่มต้นจากสิ่งที่เราชอบ หรือแม้แต่การทำตามความฝัน มองหาไอดอล ฯลฯ แต่ผมเชี่อว่าเราควรเริ่มต้นจากการหา “สิ่งที่เราไม่ชอบ” และเลิกทำมันไปทันทีเพื่อประหยัดเวลาชีวิต เพราะเราไม่มีทางรู้หรอกว่าเราชอบอะไร “จริงๆ” จนกว่าเราจะได้ลงมือทำและใช้เวลาเรียนรู้อยู่กับมันนานเพียงพอ

 

การใช้เวลาลงมือทำอะไรสักอย่างที่นานพอ เราจะรู้ว่า เรารู้สึกไม่ชอบอะไร เรารู้สึกเฉยๆกับอะไร ไปจนถึงเราชอบอะไร หรืออย่างน้อยต่อให้เราไม่รู้จริงๆหรอกว่าเราชอบอะไรก็ตาม แต่เราจะรู้แน่ๆว่า

 

“เราทำอะไรได้ดี ในระยะเวลาที่จำกัด

และได้รับผลตอบแทนที่เราพอใจ”

 

ผมขอเรียกมันรวมว่า “ประสบการณ์” เพราะประสบการณ์ที่ดี จะทำให้เราตัดสิ่งที่เราไม่ชอบออกได้ง่ายขึ้น และการเรียนรู้จากประสบการณ์นั่นแหละจะทำให้เรามีสัญชาติญานในการเลือกสิ่งที่ไม่น่าจะชอบได้ดีขึ้น เพราะจุดบอดของวิธีการนี้คือ คนทุกคนมีเวลาเรียนรู้จำกัด และถ้าหากใครที่ไม่ได้ค้นหาตัวเองตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาวก็คงจะลำบากมากๆที่จะต้องลงมือทำทุกอย่างเพื่อค้นหาในช่วงเวลาที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่มีภาระในทุกๆวันนี้ ดังนั้น ประสบการณ์คือส่วนที่เข้ามาเติมเต็มชีวิตเราให้ “ตัดสินใจ” ง่ายขึ้น

 

หลังจากนั้นประสบการณ์ที่ดีและมากเพียงพอในระดับหนึ่ง จะค่อยๆดึงดูดหาโอกาสเข้ามาให้กับเราผ่านทางช่องทางใดช่องทางหนึ่งเองโดยที่เราไม่รู้ตัว แต่ที่น่าตลกร้ายก็คือ โอกาสมักจะมาตอนที่ไม่พร้อม นั่นคือ ไม่พร้อมลงมือทำเนื่องจากไม่มีเวลา กับ ไม่พร้อมเพราะคิดว่ายังไม่ถึงเวลาของเรา

 

โดยปกติแล้ววิธีการจัดการกับ “โอกาส” ที่เข้ามานั้น มักจะอยู่นอกเหนือจากประสบการณ์ของเรา แต่สิ่งที่เราทำได้แน่ๆ คือการตัดสินใจที่จะเปิดรับทุกๆ “โอกาส” ที่เข้ามา เพราะการที่เราได้รับโอกาสย่อมแปลว่าคนอื่นมองเห็นว่าเราสามารถทำได้

 

ในทุกๆ โอกาส…

ถ้าเรามีความรู้สึก “อยากทำ” มากพอ

เราจะจัดสรรหาเวลามาลงมือทำมันได้อยู่ดี

 

ส่วนตัวแปรสุดท้ายที่สำคัญและจะเป็นตัวจัดระเบียบให้ทุกอย่างหล่อหลอมไปด้วยดี คือ “วินัย” เพราะวินัยจะทำให้เราสามารถทำอะไร “ซ้ำๆ” ได้ และมันจะกลับไปทำให้เกิด “ประสบการณ์” ที่ดี รวมถึงบังคับให้เราใช้ “เวลา” จดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นได้เรื่อยๆแม้จะไม่มีความอยากทำต่อแล้วก็ตาม … นั่นแหละมันจะพาเราไปพบกับ “โอกาส” ที่เข้ามา และสุดท้ายเราเองก็จะรู้ว่า เรา “ไม่ชอบ” อะไร ก่อนที่จะวนกลับไปเริ่มต้นสร้าง “วินัย” กับสิ่งใหม่

 

สุดท้ายแล้วการเดินทางสู่ความสำเร็จมีอยู่ 2 วิธี คือ การอดทนทำสิ่งที่เราอยู่กับมันซ้ำๆไปเรื่อยๆจนเจอแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ กับ เลิกทำสิ่งที่ไม่เวิร์กแล้วไปหาอะไรใหม่ที่เราสามารถอดทนทำมันได้ซ้ำๆไปจนถึงแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงเชื่อว่าการที่รู้ตัวว่าเราไม่ชอบอะไรนั้น มันจะเข้ามาช่วยลดระยะเวลาในการ “หาสิ่งใหม่ๆ” ได้ง่ายขึ้น

 

แต่อย่าลืมละกันว่า… ทั้งหมดนี้มันเป็นเพียงแค่ประสบการณ์ของผมเอง ใครทีได้อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ก็ขอบอกว่าคุณไม่จำเป็นต้องเชื่อ ต้องมาทำตาม หรือถ้าหากว่าคุณคิดว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ก็ขอให้คุณมองผ่านมันไปแล้วบอกกับตัวเองว่า ชั้น “ไม่ชอบ” ในสิ่งที่ไอ้นี่มันเขียนเลยแม้แต่นิด พร้อมกับกดปิดหน้าจอนี้ลงไป

 

… แล้วรีบเดินทางไปหา “แรงบันดาลใจใหม่” อย่างที่คุณต้องการ :)